'เศรษฐพงษ์' เผย 'เฟซบุ๊ก' เข้าพบกมธ.ดีอีเอส ถกป้องโซเชียลสร้างความรุนแรง
“เศรษฐพงค์” เผยเฟซบุ๊กเข้าพบกมธ.ดีอีเอส 24ก.พ.นี้ หารือป้องกันใช้สื่อโซเชียลกับความรุนแรง
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.63 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.นี้ ทางตัวแทนของเฟซบุ๊กซึ่งเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ จะได้เข้าพบกับกมธ.ดีอีเอส นำโดยน.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกมธ.ดีอีเอส และตนเอง เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะสมในสถานการณ์เหตุร้ายที่รุนแรง โดยเราจะได้สอบถามถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นคนไทย นั้นได้เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ในประเทศหรือต่างประเทศ อีกทั้งการที่เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการสื่อสารคอนเท้นท์ที่มีทั้งรูปแบบข้อความ เสียง และภาพ ซึ่งให้บริการเหมือนกับเป็นโทรทัศน์ช่องหนึ่งไปแล้วนั้น ทางเฟซบุ๊กควรจะต้องมีการรับใบอนุญาตจากองค์กรกำกับดูแลของไทยเหมือนสื่ออื่นๆของประเทศไทยด้วย
“ตรงนี้เรามีความชัดเจนว่าอยากให้ทางเฟซบุ๊ก ได้นึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ผ่านการกลั่นกรอง ซึ่งยากจะควบคุม เพราะใครก็สามารถถ่ายทอดสดได้แม้กระทั่งคนร้ายเอง ดังนั้นหากเฟซบุ๊กจริงใจให้ความเคารพกฎหมายของไทย เข้ามาอยู่ภายการองค์กรกำกับดูแล เข้ามาช่วยกันวางมาตรการป้องกัน ก็จะถือว่าเป็นการช่วยสังคมส่วนร่วม ทำให้เกิดความมั่นใจ ความปลอดภัยในการใช้สื่อโซเชียลหลังจากนี้” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขณะที่ในด้านกฎหมายแม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมเฉพาะเจาะจงไปที่สื่อโซเชียล ตรงนี้เราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสำนักงาน กสทช. ที่จะต้องช่วยกันให้ความสำคัญผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาบทลงโทษในวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะต้องเสียค่าปรับ หากไม่ลบเนื้อหาออกภายในหนึ่งชั่วโมง และได้นำเสนอ “กฎการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป” หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ที่กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับบริษัทต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในการจัดเก็บ และการใช้ข้อมูลของผู้คน
ส่วนที่ออสเตรเลียก็มีกฎหมาย Sharing of Abhorrent Violent Material Act ในปี 2019 ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาให้กับบริษัทโซเชียลมีเดีย โดยอาจลงโทษด้วยการจำคุกสำหรับผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสูงถึง 3 ปี และโทษปรับเงินมูลค่าสูงถึง 10% ของมูลค่าผลประกอบการทั่วโลก เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถทำกฎหมายควบคุมเฉพาะโซเชียลมีเดียให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและทรัพย์ของประชาชนอย่างมาก