‘แม่โขง-ล้านช้าง’ ร่วมพัฒนา เชื่อมเศรษฐกิจ 'ทางบก-ทะเล'
การเข้ามามีอิทธิพลของจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อคานอำนาจญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และยังเป็นจุดเชื่อมโยงรับกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ (บีอาร์ไอ) มุ่งส่งเสริมเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
การเข้ามามีอิทธิพลของจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อคานอำนาจญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และยังเป็นจุดเชื่อมโยงรับกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ (บีอาร์ไอ) มุ่งส่งเสริมเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 5 ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 6 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ร่วมทบทวนการดำเนินงานในรอบ 1 ปีตาม แผนปฏิบัติการแม่โขง-ล้านช้างระยะ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2565 และเตรียมจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค. 2563 เพื่อประกาศแผนใหม่ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ดำเนินมากว่าครึ่งทศวรรษ
หนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ การผลักดันไปสู่เป้าหมายการพัฒนา "เขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่” โดยหวังจะขยายร่วมมือระเบียบการค้าในพื้นที่ทางตะวันตกของจีนกับภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง
หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิก สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมทางบก-ทางทะเลแห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภายในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงการพัฒนาที่รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามข้อริเริ่มต่างๆ ที่กำหนดไว้แล้วให้ไปสู่ทิศทางที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“นับตั้งแต่เริ่มดำเนินกลไกความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้มีการขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และเกิดแรงขับเคลื่อนภายในที่เข้มแข็ง ทั้งการปลุกจิตสำนึกแม่โขง-ล้านช้างที่หยั่งลึกลงในหัวใจของประชาชนที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางแม่น้ำสายนี้ ในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก” หวังอี้ กล่าวย้ำ
ด้าน สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศลาว กล่าวว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ เป็นการขยายลู่ทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งจะมีประชากรอาศัยในพื้นที่กว่า 900 ล้านคนได้ประโยชน์ โดยข้อเสนอดังกล่าวจำเป็นต้องต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบโดยเฉพาะสิทธิพิเศษระหว่างกัน
ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำระเบียบว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง ครอบคลุมตั้งแต่ความร่วมมือพัฒนาทรัพยากรน้ำ เกษตรแนวใหม่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจดิจิทัล ศุลกากร และโครงการระดับเยาวชน โดยมุ่งผลักดันการเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคให้เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของจีน ทั้งกรอบทวิภาคีและอนุภูมิภาคแม่โขง ตั้งแต่แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ทั้งนี้ คาดว่า จะทำให้การค้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้าแม่โขง-ล้านช้าง อยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 11%
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะภาคการเกษตรการบริหารจัดการน้ำปัญหาภัยแล้ง ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันและจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระหว่างจีนกับลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จีนยังแสดงท่าทีเห็นพ้องร่วมกับไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว ในความร่วมมือเผชิญกับสิ่งท้าทายและความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยทุกประเทศต้องแบ่งปันโอกาสการพัฒนาและรับผิดชอบร่วมกัน