เกาหลีใต้ลงทุน 'เวียดนาม' พุ่ง อานิสงส์ 'สงครามการค้าสหรัฐ-จีน'
การลงทุนของบริษัทเกาหลีใต้ในเวียดนามขยายตัวต่อเนื่อง อานิสงส์จากสงครามการค้า "สหรัฐ-จีน" ล่าสุด "ซัมซุง" เตรียมสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)ในเวียดนาม ส่วน "เอสเค" บริษัทชั้นนำอีกแห่งของเกาหลีใต้ เตรียมเข้าไปถือหุ้นในบริษัทวินกรุ๊ปของเวียดนาม
การลงทุนของบริษัทเกาหลีใต้ในเวียดนามขยายตัวอย่างต่อเนื่องอานิสงส์จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ล่าสุด บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง เตรียมสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)ในเวียดนาม ส่วน เอสเค บริษัทชั้นนำอีกแห่งของเกาหลีใต้ เตรียมเข้าไปถือหุ้นในบริษัทวินกรุ๊ปของเวียดนาม
"ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์" จะใช้จ่ายเงิน 220 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างศูนย์อาร์แอนด์ดีในกรุงฮานอยที่มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2565 ส่วนบริษัท "เอสเค กรุ๊ป" ประกาศลงทุนในวินกรุ๊ป กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สุดของเวียดนามเพื่อขยายธุรกิจรถยนต์และธุรกิจอื่นๆ ในเวียดนาม ที่ถือเป็นดาวรุ่งแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันนี้ การลงทุนโดยตรงของบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ในเวียดนามขยายตัวประมาณ 10% เมื่อพิจารณาจากการอนุมัติโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเวียดนามในปี 2562 เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่า 7.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของเม็ดเงินเอฟดีไอในเวียดนามและถือว่าเกาหลีใต้คือกลุ่มลงทุนมากที่สุดอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกในเวียดนามในรอบ 3 ปี
ซัมซุง ระบุว่า ศูนย์กลางอาร์แอนด์ดีของซัมซุงที่จะตั้งขึ้นในเวียดนามจะมีหน้าที่หลักคือการศึกษาด้านสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะตำแหน่งวิศวกรรมจำนวน 3,000 คนซึ่งศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่เป็นฐานด้านอาร์แอนด์ดีของซัมซุง
ศูนย์กลางอาร์แอนด์ดีของซัมซุงที่จะตั้งขึ้นในเวียดนามจะมีหน้าที่หลักคือการศึกษาด้านสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ
เมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว ซัมซุง เอสดีเอส บริษัทพัฒนาระบบของซัมซุง กรุ๊ป ได้เข้าซื้อหุ้น 30% ในซีเอ็มซี คอร์ป บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศใหญ่สุดอันดับ 2 ของเวียดนาม ในวงเงินกว่า 4,000 ล้านวอน
ปัจจุบัน ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เริ่มผลิตสมาร์ทโฟนที่โรงงานในภาคเหนือของเวียดนามเมื่อปี 2552 และสมาร์ทโฟนที่ผลิตจากโรงงานในภาคเหนือนี้ถูกส่งออกไปขายในตลาดต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 50%
อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของเวียดนาม กำลังประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ที่เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจนำไปสู่ความล่าช้าในการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์
“ผู้ผลิตรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือ กำลังประสบกับความยากลำบากในการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ เหตุถูกขัดขวางจากการระบาดของเชื้อไวรัส เวียดนามพึ่งพาวัสดุและอุปกรณ์จากจีนอย่างมาก ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงเมื่อเกิดการระบาดเช่นนี้” กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ระบุ
ที่ผ่านมา เวียดนามได้คลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการค้าข้ามชายแดน เพื่อประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการข้อจำกัดบางอย่างยังคงดำเนินอยู่เช่นเดิม
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ระบุด้วยว่า บริษัทซัมซุง เป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของประเทศจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการผลิตโทรศัพท์รุ่นใหม่ 2 รุ่น เนื่องจากส่วนประกอบส่วนใหญ่มาจากจีน
“ซัมซุงกำลังพิจารณาที่จะใช้การขนส่งทางทะเล หรือทางอากาศเพื่อนำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็น แต่จะเป็นการเพิ่มต้นทุนและยังกระทบต่อตารางการผลิตและไม่ตอบสนองต่อความต้องการ” กระทรวงฯระบุ
ด้านซัมซุงยืนยันว่า จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อกระบวนการผลิต แต่ถึงแม้ว่า กระทรวงฯจะไม่ได้เปิดเผยว่ามีโรงงานกี่แห่งที่ปิดตัวเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การสำรองวัสดุอุปกรณ์และสินค้า พร้อมทั้งการจัดการสินค้าคงคลัง
“หากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้ภายในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง สินค้าคงคลังจะหมดลง ผลผลิตโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ภายในประเทศจะตกลงอย่างมาก” กระทรวงการค้าและอุตสาหหกรรมของเวียดนาม ระบุ
แต่ถึงแม้เวียดนามจะเผชิญอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บ้าง แต่เวียดนามก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศอาเซียนที่น่าลงทุนและเป็นประเทศที่มีความสำคัญในฐานะผู้ผลิตหลัก ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าในภาคปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปยังอีกหลายประเทศ
แถมยังเป็นประเทศที่มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ในการบริโภคภายในประเทศด้วย กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุว่า มีการส่งออกในภาคปศุสัตว์และภาคที่เกี่ยวข้องเป็นมูลค่าทั้งหมด 855.4 ล้านดอลลาร์และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
และรายงานจากคณะกรรมการการประมงเวียดนามบ่งชี้ว่า มีการผลิตอาหารทะเลในเดือนก.ย.ปี 2562 สูงถึง 733.5 พันล้านตัน แบ่งออกเป็นผลผลิตได้ถึง 251,000 ตัน และมีปริมาณการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ 328.5 พันตัน จึงเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ยังคงมีความสนใจ และมุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย
บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้พยายามหาโอกาสขยายการลงทุนในเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศประสบภาวะชะงักงัน โดยเวียดนาม เป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ รองจากจีนและสหรัฐ ซึ่งเวียดนามอาจจะแซงหน้าสหรัฐในปีนี้ก็เป็นได้ หากใครไปเวียดนามช่วงนี้ จะเห็นร้านขายอาหารและร้านค้าปลีกสัญชาติเกาหลีใต้ ตลอดจนร้านค้าปลีกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัทเกาหลีใต้เปิดตัวราวดอกเห็ดในเวียดนาม ที่มีประชากรเกาหลีใต้เข้าไปพำนักมากถึง 2 แสนคน
ส่วนเม็ดเงินเอฟดีไอในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 7.2% ในปี 2562 จากปีก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 38,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทเกาหลีใต้เป็นกลุ่มที่ลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ บริษัทฮ่องกง และสิงคโปร์ตามมาเป็นอันดับ 3 ญี่ปุ่น อันดับ 4 และจีน อันดับ 5