นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี 63 วงเงินงบประมาณ 2.9 พันล้านบาท
นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 วงเงินงบประมาณ 2,910 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ ว่า ที่ประชุม นบข. มีมติรับทราบและเห็นชอบในเรื่องสำคัญดังนี้
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทย ปี 2562/63 ซึ่งสถานการณ์ข้าวโลก ปี 2562/63 ในส่วนของการผลิตข้าวโลก ปีการผลิต 2562/63 คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวโลกจะมีประมาณ 496.22 ล้านตัน ลดลง 2.96 ล้านตัน หรือร้อยละ 0.59 จากปีการผลิต 2561/62 ที่มีปริมาณ 499.18 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตหลักลดลง ได้แก่ ไทย ลดลง 1.84 ล้านตัน จีน ลดลง 1.76 ล้านตัน อินเดีย ลดลง 1.42 ล้านตัน และสหรัฐฯ ลดลง 1.24 ล้านตัน โดยไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้แนวโน้มผลผลิตข้าวไทยลดลงมาก รัฐบาลจีนมีการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานภาคการเกษตรโดยปรับลดปริมาณการเพาะปลูกข้าวให้เหมาะสมและมีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับปริมาณสต็อกข้าวภายในประเทศมาก
ในขณะที่สหรัฐฯ คาดว่าในบางพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญทางตอนใต้ของสหรัฐฯ จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ จนเป็นอุปสรรคต่อการปลูกข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวโลก การค้าข้าวโลก ปี 2562/63 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวโลก ปลายปี 2562/63 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 178.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77 จากปี 2561/62 โดยจีนมีสต็อกข้าวโลกมากที่สุด
ด้านการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2563 อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 1.13 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 0.74 ล้านตัน ปากีสถาน 0.62 ล้านตัน ทั้งนี้ การค้าข้าวในตลาดโลกช่วงต้นปีค่อนข้างชะลอตัว โดยไทยส่งออกลดลงเนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ข้าวไทยมีราคาแพง ส่งผลให้คู่ค้าหลัก ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง มีความต้องการซื้อข้าวจากไทยลดลง ขณะที่ราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ราคาส่งออกข้าวไทยทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าและประสบภาวะภัยแล้ง
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2562/63 แนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเจ้า มีแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตมีน้อยประกอบกับยังมีความนิยมในการบริโภค และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีข้าวสารเหนียวจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้าสู่ตลาดไทย ในขณะที่ข้าวเปลือกปทุมธานี มีแนวโน้มราคาคงที่ เนื่องจากตลาดปลายทางชะลอคำสั่งซื้อ จากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า
นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ซึ่งรายละเอียดที่สำคัญของโครงการฯ ประกอบด้วย ผู้รับประกันภัย ได้แก่ บริษัทเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ตามกรมธรรม์ คุณสมบัติของผู้เอาประกันภัย ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าว ปีการผลิต 2562 และปรับปรุงทะเบียน ในปีการผลิต 2563 นอกจากนี้ มีรายละเอียดในส่วนของพื้นที่รับประกันภัย อัตราค่าเบี้ยประกันภัย วงเงินคุ้มครอง การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของ ธ.ก.ส. ระยะเวลาการขายประกัน การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน งบประมาณดำเนินโครงการฯ สำหรับพื้นที่เอาประกัน จำนวนทั้งสิ้น 2,910.391 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ นบข. อนุมัติขยายเป้าหมายการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพิ่มเติม คือ ปริมาณข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 5 แสนตัน วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาท ระยะเวลาการจัดทำสัญญาเงินกู้จากเดิม วันที่ 29 ก.พ.63 เป็นวันที่ 31 มี.ค.63 พร้อมกับเห็นชอบการจัดสรรค่าใช้จ่ายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกฯ ให้ ธ.ก.ส. วงเงิน 682.86 ล้านบาท ประกอบด้วย ชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการฯ วงเงิน 167.50 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายกรณีมีการระบายข้าว วงเงิน 515.36 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. จัดสรรวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นทุนเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการฯ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ทั้งนี้ มอบหมายฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมาย ธ.ก.ส. จัดทำรายละเอียดการขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อจ่ายค่าฝากเก็บ เพิ่มเติมวงเงิน 750 ล้านบาท
นอกจากนี้ นบข. ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้การดำเนินงานของ นบข. รวม 2 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีหน้าที่และอำนาจจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ปี 2563 – 2567 ด้านการตลาดภายในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านการผลิต ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาสินค้าข้าว 2. คณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ