พิษ‘โควิด-19 ’ฉุดสินเชื่อแบงก์โตไม่เกิน 1%
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวแรงในครึ่งปีแรก จากผลกระทบ “โควิด-19” ระบาด ฉุดสินเชื่อแบงก์ทั้งระบบโตต่ำ เต็มที่ไม่เกิน 1% จากเดิมคาดว่าปีนี้จะโตในระดับ 3% สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี หนักสุด
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแรง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี)ต่างๆ โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยที่จะได้รับผลกระทบทั้งยอดสินเชื่อที่จะเติบโตลดลง และผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม
ทางด้านการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการของอัตราการเติบโตของปี2563 ลงมาที่ระดับไม่เกิน 1% จากเดิมมองกรอบล่างของการเติบโตไว้ที่ 3.0% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าปี2562 ที่สินเชื่อทั้งระบบเติบโต 2.2%
ทั้งนี้ มองว่า สินเชื่อธุรกิจ ทั้งสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) จะปรับลดลงมากที่สุด โดยปีนี้มีโอกาสเห็นการลดลงต่อเนื่องและมากกว่าปี 2562 ที่สินเชื่อธุรกิจติดลบ 1.8% ผลจากในปีนี้ความต้องการสินเชื่อใหม่ยังไม่มา หรือมาได้ช้าและการชำระคืนที่นานขึ้นอีกด้วย ด้านสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ ในปีนี้ยังมองว่าจะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวที่ต่ำมากหรือต่ำกว่า5% จากที่เคยขยายตัวในระดับ 7.5%ในปี2562
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพอาจเพิ่มขึ้น ตามทิศทางหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล(NPL) ที่มีโอกาสขยับขึ้นจาก 2.98% เมื่อสิ้นปี 2562 เบื้องต้นคาดว่าในไตรมาส1ของปีนี้ เอ็นพีแอลจะขยับขึ้นมาที่ 3.1-3.2% ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังต้องรอดูสถานการณ์และตัวเลขไตรมาสแรกที่จะออกมา ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ด้วยเ พื่อประเมินทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่สำคัญกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้ คือการช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ร่วมมือกับทางการ เพื่อให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงยากลำบากนี้ไปก่อน ขณะที่ผลกระทบต่อผลประกอบการในปีนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนได้รับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันการเงินทั่วโลก
ด้านฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกรายงานผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาคธนาคาร เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบถึงภาคธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดลง การขยายตัวของสินเชื่อลดลง บั่นทอนความสามารถในการทำกำไร โดยธนาคารในไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยว กับธนาคารสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับจีนมาก มีแนวโน้มได้รับผลหนักสุด แต่ธนาคารในทั้งสองประเทศมีความสามารถในการรองรับความเสียหายมากพอที่จะต้านแรงกดดันนี้ได้
ฟิทช์ระบุว่าไทยมีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีสูง คิดเป็น 33% ของพอร์ตรวม ซึ่งมีแนวโน้มเสียหายหนักจากโควิด-19 แม้คาดการณ์เสถียรภาคธนาคารของฟิทช์ ได้รวมเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวและรายได้ลดลงไปแล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจหดตัวมากขึ้นก็อาจส่งผลต่อการประเมินผลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)