'มาสเตอร์การ์ด' ชี้เงินไม่ใช่สาเหตุหลัก 'ผู้หญิง' ผันตัวเป็นเจ้าของธุรกิจ
การอาศัยอยู่ในประเทศที่มีฐานรายได้สูงและมีความเจริญทางเศรษฐกิจ นับว่ามีส่วนกระตุ้นให้ผู้หญิงอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยปัจจัยที่ผลักดัน คือ โอกาส และความจำเป็น
ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำในองค์กร ทำให้จำนวนนักธุรกิจหญิงทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการสร้างธุรกิจ เช่น เงินทุน ระบบโลจิสติกส์ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งนี้จะมีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เป็นเช่นนั้นบ้าง
ล่าสุด มาสเตอร์การ์ด ได้ดัชนีผู้ประกอบการสตรีประจำปี พ.ศ. 2562 (Mastercard Index of Women Entrepreneurs; MIWE) โดยเป็นการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากองค์กรต่างๆ ในระดับนานาชาติ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้หญิงทั่วโลก เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของนักธุรกิจหญิงและเจ้าของธุรกิจหญิงใน 58 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 80% ของแรงงานหญิงทั่วโลก
โดยข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่าการมีฐานรายได้สูงและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงผันตัวเป็นเจ้าของธุรกิจเสมอไป แต่เป็นเพราะสภาวะแวดล้อมทางสังคม การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ หรือค่านิยมทางสังคม
- การเติบโตด้านเศรษฐกิจอาจไม่ใช่ทุกอย่าง
การอาศัยอยู่ในประเทศที่มีฐานรายได้สูงและมีความเจริญทางเศรษฐกิจ นับว่ามีส่วนกระตุ้นให้ผู้หญิงอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ผลสำรวจพบว่า หนึ่งในสามของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งติดอันดับ 20 ประเทศที่ส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีนั้น เป็นประเทศที่มีฐานรายได้สูงและเป็นประเทศที่เจริญแล้ว อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยประเทศเหล่านี้มีระบบการศึกษา การจัดการสินทรัพย์ทางการเงินและสภาพแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจที่ดีกว่าประเทศที่มีฐานรายได้ต่ำ
แต่อย่างไรก็ตาม รายได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผันตัวเป็นนักธุรกิจหญิงเท่านั้น จะเห็นได้จากผลสำรวจ ถึงแม้ว่าประเทศไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม จะไม่ได้เป็นประเทศที่มีฐานรายได้สูง แต่กลับได้คะแนนเกณฑ์การสนับสนุนนักธุรกิจหญิงที่สูง จากผลสำรวจ MIWE ในขณะที่ประเทศที่มีฐานรายได้สูงและเจริญแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ได้คะแนนสำหรับเกณฑ์การสนับสนุนนักธุรกิจหญิงค่อนข้างต่ำ (ติดอันดับที่ 36 และ 46 ตามลำดับ)
- เหตุผลในการเริ่มต้นธุรกิจ: ความแตกต่างระหว่างโอกาสและความจำเป็น
ผู้หญิงเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองด้วยผลเหตุมากมายที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคือ โอกาส (Opportunity) ผู้หญิงกลุ่มนี้รู้ว่าอยากจะพัฒนาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไปในทิศทางใดและมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทั้งยังต้องการอิสระในการทำงาน และบางรายต้องการเพิ่มรายได้หรือเพิ่มสถานะทางการเงินของตนเอง ซึ่งความตั้งใจเหล่านี้มากพอที่จะทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ก้าวข้ามผ่านความกลัวต่อความล้มเหลวในการทำธุรกิจ (Fear of Failing Rate) และคอยมองหาช่องทางเพื่อประกอบธุรกิจของตนเอง อย่างประเทศเวียดนามและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราความกลัวต่อความล้มเหลวสูง (46.6% และ 41.4% ตามลำดับ) แต่กลับมีอัตราส่วนของนักธุรกิจหญิงสูง (27.0% และ 30.9% ตามลำดับ)
อีกหนึ่งแรงผลักดันคือ ความจำเป็น (Necessity) หากสถานที่ทำงานเดิมไม่มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทำงาน และผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือการศึกษาความรู้ความสามารถที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวอาจทำให้พวกเธอประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ในทางกลับกันหากหน้าที่การงานตอบโจทย์ ทั้งเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีพอ ความคิดที่จะเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวของผู้หญิงอาจดูไกลออกไป โดยเฉพาะถ้าการเริ่มต้นธุรกิจนั้นๆ จะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ การกู้ยืมเงิน
หน่วยชี้วัดความสามารถของผู้หญิงในการขึ้นเป็นนักธุรกิจชั้นนํา บุคลากรเฉพาะทาง ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นำโดย 4 ประเทศที่ติด 10 อันดับประเทศ จากการจัดอันดับทั่วโลกในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ติดอันดับที่ 1) ไทย (4) เวียดนาม (7) และนิวซีแลนด์
- ค่านิยมทางสังคม: ดาบสองคมที่ทั้งสร้างและทำลาย
เป็นที่รู้กันดีว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศยังมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเข้าถึงบริการทางการเงิน บทบาทหน้าที่ในที่ทำงาน และอีกมากมายที่ผู้หญิงได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชาย จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศที่มีค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานและมีความฝัน ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะส่งเสริมการประกอบธุรกิจส่วนตัวและสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายก็ตาม แต่ผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่คิดที่จะทำธุรกิจเป็นของตัวเองหรือแม้กระทั่งทำงานในตำแหน่งระดับผู้บริหาร ทั้งนี้เกิดจากความกลัวต่อความล้มเหลวในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมและกฎระเบียบดังกล่าว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการทำธุรกิจ มีสัดส่วนของนักธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีสัดส่วนของนักธุรกิจหญิงเพียง 7% เท่านั้น
- จากข้อมูลดังกล่าว เราจะช่วยเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง
จากข้อมูลทั้งหมด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจก็คือ ปัจจัยด้านการเงิน เพราะการเข้าถึงบริการทางเงินช่วยให้ผู้หญิงสามารถเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองและมีอิสระต่อชีวิตของตัวเองมากขึ้นไม่ว่าพวกเธอจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม ผู้ตั้งกฎระเบียบของสังคมควรนึกถึงสตรีเสมอเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อทำให้เกิดการเติบโตของสังคมที่ยั่งยืน
บทความโดย : จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด