โรคไอพีดีในเด็ก พ่อแม่รู้ทันป้องกันได้
โรคไอพีดี(IPD)ในเด็กป้องกันได้ พ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ พาลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไอพีดีเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงในเด็ก สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า นิวโมคอคคัส ที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูกและคอ ซึ่งสามารถติดต่อซึ่งกันและกันโดยผ่านการไอ จามหรือสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง เหมือนกับการแพร่เชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 2 ปี ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคไอพีดี ถ้าเป็นการติดเชื้อไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ หูน้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบสามารถรักษาโดยการรับประทานยา แต่ถ้าติดเชื้อแบบลุกลามต้องให้ยาปฏิชีวนะ ทางเส้นเลือด ระดับความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ ได้แก่ การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ส่วนในเด็กทารกจะร้องงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจพิการ หูหนวก ปัญญาอ่อน หรือเสียชีวิต การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวนงอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก เสียชีวิต นอกจากนี้ เชื้ออาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อ เป็นต้น การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงหรือสมอง หูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ และการได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กด้วย การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนกลาง เช่น ปอดอักเสบ เด็กจะมีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตหากได้รับการรักษาล่าช้า อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวสามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดย สอนให้เด็กล้างมือ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่เป็นหวัดหรือป่วย ควรให้ลูกกินนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ไปสู่ลูกทางอ้อม และฉีดวัคซีนซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด