เทียบฟอร์ม ‘5 ผู้บริหารหญิง’ คุมเกมธุรกิจยักษ์ใหญ่เมืองไทย
เทียบชัดๆ 5 ผู้บริหารหญิง Wonder Women ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังธุรกิจยักษ์ใหญ่ ใครคุมธุรกิจอะไรบ้างไปดูกัน
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพขององค์กรที่มีผู้นำเป็นผู้ชายค่อยๆ เปลี่ยนไป ล่าสุดจากการสำรวจและวิจัยบทบาทผู้หญิงในวงการธุรกิจ ปี 2020 ของแกรนท์ ธอนตัน ที่สำรวจบริษัทขนาดกลางกว่า 5,000 แห่ง จาก 30 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้หญิงนั่งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมากกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลก และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
หากเปรียบเทียบในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนราว 27% ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 20% ส่งผลให้ขณะนี้ไทยรั้งอันดับ 3 ที่มีสัดส่วนซีอีโอหญิงมากที่สุดในโลก
ส่วนตำแหน่งซีเอฟโอ ผู้กุมบังเหียนด้านการเงินของออค์กร พบว่า ไทยมีซีเอฟโอหญิงสัดส่วนสูงถึง 43% ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของโลก
จากสถิตินี้ทำให้น่าสนใจว่า ในเมืองไทยมีผู้บริหารหญิงคนใดบ้างที่นั่งกุมบังเหียนในบริษัทยักษ์ใหญ่ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงได้รวบรวมบุคคลที่น่าสนใจมาเทียบฟอร์มกันชัดๆ
1.ชฎาทิพ จูตระกูล
เริ่มกันที่คนแรก “ชฎาทิพ จูตระกูล” หลายคนคงรู้จักในฐานะหญิงแกร่งที่ปลุกปั้น “ไอคอนสยาม” แลนด์มาร์คใหม่ของไทย ด้วยมูลค่าเม็ดเงินลงทุนร่วมกับพันธมิตรมหาศาลกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ศูนย์การค้าแห่งนี้บนพื้นที่ราวๆ 50 ไร่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ปลุกความคึกคักให้กับฝั่งธนบุรีและทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมาก และตั้งเป้าเป็นเดสติเนชั่นของคนทั่วโลก
โดย “ชฎาทิพ” นั่งกุมตำแหน่งกรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ซึ่งในปี 2561 ตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวมกว่า 2.31 หมื่นล้านบาท ทำรายได้รวม 780 ล้านบาท
รวมถึงยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็นเจ้าของห้างใหญ่กลางเมือง ทั้งสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน โดยบริษัทแห่งนี้เริ่มดำเนินการราวปี 2502 ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 274 ล้านบาท ล่าสุดปี 2561 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งหมดกว่า 1.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 33.77% ส่วนรายได้รวมนั้นสูงถึง 3.65 พันล้านบาท และโกยกำไรไปราวๆ พันล้านบาท
ขณะเดียวกันยังต่อยอดความเชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก เป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด แตกแบรนด์ในมือจำนวนมาก เช่น Loft, The Secreted เป็นต้น และยังมีธุรกิจอื่นในมืออีกมาก
ด้วยความเก่งและแนวคิดที่มุ่งพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมา “ชฎาทิพ” เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ถูกจารึกชื่อใน World Retail Hall of Fame 2019 ของสภาการค้าปลีกโลก ให้เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางและการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกในระดับโลกด้วย
2. วัลลภา ไตรโสรัส
อีกหนึ่งคนที่น่าสนใจและจับตามอง “วัลลภา ไตรโสรัส” ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี หัวเรือใหญ่ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มน้ำเมา ที่ปัจจุบันแตกไลน์ทั้งเครื่องดื่มนอนแอลฯ น้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเชนร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อดัง อย่างโออิชิกรุ๊ป เคเอฟซี หรือสตาร์บัคส์
แต่ยังมีอีกหนึ่งภาคธุรกิจอย่างสินทรัพย์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีถือครองอยู่ ก็คือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ในเครือทีซีซี กรุ๊ป โดยหลักๆ แล้ว จะเป็น “วัลลภา” หรือลูกสาวคนที่ 2 เข้ามารับบทบาทสำคัญนี้ ในตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการบริหาร
ต้องบอกเลยว่า ลูกไม้หล่นใต้ต้นจริงๆ เพราะความเก่งและต้นแบบแห่งนักธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ ทำให้วันนี้ทีซีซี กรุ๊ป นับเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เชื่อว่ามีสถานที่หลายแห่งที่หลายๆ คนอาจจะเคยไปหรือได้ยิน เช่น ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์, พันธุ์ทิพย์พลาซ่า (ประตูน้ำ, งามวงศ์วาน, เชียงใหม่), ตะวันนา, เกทเวย์ (บางซื่อ, เอกมัย), AEC Trade Center เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ 4 อาคาร เช่น เอ็มไพร์ ทาวเวอร์, อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์, แอทธินี ทาวเวอร์ และ 208 วายเลสโร้ด
นอกจากนี้ยังรวมถึงธุรกิจโรงแรมแบรนด์ดังรวม 15 โรงแรม ทั้งหมด 4,960 ห้อง อย่างแมริออท, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, เลอ เมอริเดียน, บันยันทรี, ฮิลตัน, ดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน, เชอราตัน ฯลฯ
หากมาดูที่ตัวเลขของสินทรัพย์รวม ล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวมราว 9.23 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 5.63 พันล้านบาท
3. วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส
มาต่อกันที่หญิงแกร่งไทย ที่พาชื่อเสียงกระเป๋าฝีมือคนไทยแบรนด์ “นารายา” ภายใต้บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ไปใกล้ถึงต่างประเทศ ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น สีสันหลากหลาย และรูปทรงที่เหมาะกันการใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้กระเป๋านารายาครองใจลูกค้ามานานถึง 30 ปีแล้ว
แม่ทัพหลักที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส” ประธานกรรมการบริหาร
แล้วรู้หรือไม่ กระเป๋านารายาที่เราเห็นในช็อป หรือห้างสรรพสินค้านั้น รายได้ที่เกิดขึ้นกับบริษัทนี้ ยังช่วยกระจายไปยังชนบทอีกด้วย เพราะบริษัทได้จ้างแรงงานชนบทเข้ามาสู่กระบวนการผลิตด้วย รวมถึงกลยุทธ์ของการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ออกแบบผลิตภัณฑ์รูปลักษณ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ทำให้วันนี้เป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เพื่อมาเลือกซื้อเป็นของฝาก นอกจากนี้ยังมีการแตกแบรนด์อื่นๆ เช่น ลาลามา บาย นารายา เป็นต้น เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น
โดยเริ่มแรกบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนด้วยทุนราว 90 ล้านบาท แต่ปัจจุบันธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2.51 พันล้านบาท ทำรายได้รวมทั้งสิ้น 1.33 พันล้านบาท และโกยกำไรสุทธิไป 42 ล้านบาท อีกทั้งทายาทรุ่นที่ 2 ที่เริ่มเข้ามาช่วยกิจการก็กำลังพานารายาก้าวสู่ดิจิทัลคอมพานีอีกด้วย นับเป็นธุรกิจของคนไทยที่น่าจับตามอง
4.นวลพรรณ ล่ำซำ
หนึ่งในเวิร์กกิ้งวูเมน “นวลพรรณ ล่ำซำ” หรือที่หลายคนเรียกว่า "มาดามแป้ง" เพราะเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี แน่นอนว่าใครๆ ก็คงได้เห็นฝีไม้ลายมือ ความมุ่งมั่น และคล่องแคล่วแล้ว
ในบทบาทของนักธุรกิจ “นวลพรรณ” ก็ปลุกปั้น ต่อยอดได้อย่างดี ในฐานะทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
โดยธุรกิจประกันภัยนี้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันครองอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งประกันการเดินทาง สุขภาพ รถยนต์ ธุรกิจ ฯลฯ ในปี 2562 มีสินทรัพย์รวมราว 2.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้รวมกว่า 7.45 พันล้านบาท
ล่าสุด “นวลพรรณ” ได้รับรางวัล InfluentialWomen Awards 2019 ในงาน 2019 Asia CEO Summit & Awards Ceremony ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสตรีที่เป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จและผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดด้วย
5. จรีพร จารุกรสกุล
ปิดท้ายด้วย “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA บริษัทชั้นนำของไทยด้านโลจิสติกส์ ที่มีพื้นที่ให้เช่ารวมกว่า 2.3 ล้านตารางเมตร มีทั้งในรูปแบบของโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีรวมทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาราว 12 แห่ง มีพื้นที่สำหรับขายกว่า 1 หมื่นไร่
นอกจากนี้ยังทำธุรกิจสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะน้ำสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในนิคม และขณะนี้ต่อยอดไปสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย ด้วยความมุ่งมุ่นในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนธุรกิจ ทำให้ปี 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวมกว่า 8.22 หมื่นล้านบาท ทำรายได้ 1.33 หมื่นล้านบาท โกยกำไรสุทธิไป 3.22 พันล้านบาท