มองโอกาสการลงทุน ‘เมียนมา’
รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ประกอบกับมีนโยบายปฏิรูปประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทย จึงเป็นโอกาสด้านการตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย
รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยได้ตรากฎหมายการลงทุนต่างชาติ ปี 2555 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมข้อกำหนดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่การกำหนดรูปแบบการลงทุน สาขากิจการที่รัฐบาลส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน สาขาที่จำกัดการลงทุน เงื่อนไขการเช่าที่ดิน การยกเว้นภาษี ข้อกำหนดการจ้างงาน รวมทั้งได้กำหนดบทลงโทษ กรณีที่นักลงทุนกระทำขัดต่อกฎหมายฉบับนี้
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนและยังต้องอาศัยการตีความในการบังคับใช้ แต่ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจ ทั้งนี้ กฎหมายการลงทุนต่างชาติต้องพิจารณาใช้ร่วมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ 3 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยบริษัทของเมียนมา ปี 2456 พระราชบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนของเมียนมา ปี 2475 และพระราชบัญญัติ ว่าด้วยบริษัทพิเศษ ปี 2493
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ คณะกรรมาธิการการลงทุนของเมียนมา ซึ่งมีหน้าที่ประเมินโครงการลงทุน ออก ข้อกำหนดและเงื่อนไขเกี่ยวกับใบอนุญาตลงทุนและประเมินสถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ขั้นตอนการยื่นขอลงทุนประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนจากคณะกรรมาธิการการลงทุน การยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทำการค้าจากสำนักผู้อำนวยการการจัดการบริษัทและการลงทุน และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต่อสำนักจดทะเบียนบริษัทด้านการคุ้มครองการลงทุน
กฎหมายเมียนมาอนุญาตให้นักลงทุน ต่างชาติสามารถโอนเงินตราต่างประเทศ ได้ภายใต้การตรวจสอบและการอนุญาตของ คณะกรรมาธิการการลงทุนในบางกรณี รัฐบาล เมียนมารับประกันการไม่เวนคืนธุรกิจ ตลอดระยะเวลาอายุสัญญาการลงทุน รวมทั้งรับประกันที่จะไม่ระงับธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตลงทุนก่อนสิ้นอายุสัญญาการลงทุน รัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
กฎหมายการลงทุนต่างชาติ ปี 2555 ได้ กำหนดห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในกิจการ 11 กิจการส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อประเพณีและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้านนโยบายการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ กฎหมายอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% และกรณีที่เป็นการลงทุนในกิจการร่วมค้า นักลงทุนต่างชาติต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35% ของการลงทุนทั้งหมด
ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน กฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทั้งการยกเว้ภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีศุลกากร เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ รวมทั้งได้ กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการส่งออกเป็นการเฉพาะเช่นกัน
ตามประกาศกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษปี 2554 ได้กำหนดมาตรการยกเว้นและลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาที่ได้กำหนดพื้นที่ไว้ ประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะรัมรีหรือจ๊อกพิว และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถเช่าได้ถึงระยะเวลา 30 ปี
ธนาคารโลกรายงานว่า ปี 2562 เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนในภาคการขนส่งและภาคโทรคมนาคมของภาครัฐบาล ภาคบริการจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 10.4% ในเดือน ส.ค.2562 เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
จุดแข็งด้านการลงทุนในเมียนมา คือ การเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากและอุดมสมบูรณ์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับ ต่างประเทศได้สะดวก มีแรงงานจำนวนมาก และยังมีค่าแรงต่ำ จุดอ่อน คือ ไม่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน แรงงานส่วนใหญยังไร้ฝีมือ กำลังซื้อในประเทศของคนส่วนใหญ่ยังต่ำ
โอกาสที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ คือ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมามีนโยบายปฏิรูปประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทย รวมทั้งเมียนมามีประชากรเป็นจำนวนมาก และเชื่อมั่นต่อคุณภาพสินค้าไทย จึงเป็นโอกาสด้านการตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย
อุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในเมียนมา ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหรรมก่อสร้าง บริการการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมประมงและอาหารสำเร็จรูป อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก
รูปแบบการลงทุนในเมียนมาควรลงทุนในเขตอุตสาหกรรม และต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ควรมีพันธมิตรและคู่ค้าเป็นชาวเมียนมาเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ นักลงทุนควรตระหนักว่ากฎหมายและระเบียบต่างๆ ของเมียนมายังไม่มีความชัดเจนและมีปัญหาทางปฏิบัติทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น รวมทั้งต้องศึกษาทำความเข้าใจความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม และเชื้อชาติของเมียนมาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่