Active surveillance, เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์(ป่า)สู่คนเชิงรุก

Active surveillance, เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์(ป่า)สู่คนเชิงรุก

หลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ลุกลามจากประเทศจีนสู่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนจะแพร่กระจายไปในอีกหลายๆประเทศในเวลานี้

งานเฝ้าระวังและการประเมินความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คนกลับมาเป็นที่สนใจและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอีกครั้ง โดยจากการเปิดเผยของนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 23/2563 เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่งตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ” ขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมและสามารถดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ บูรณาการระหว่างหน่วยงาน จัดระบบการประสานงาน สนับสนุนการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกำกับติดตามผลการดำเนินงาน

โดยงานด้านหนึ่งที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นหลังจากที่มีการดำเนินการมาอย่างเงียบๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาคือ การสำรวจเฝ้าระวังและการประเมินความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน

โดยนายสัตวแพทย์ภัทรพลได้เปิดเผยว่า การดำเนินการขั้นต่อไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ ทส. คือการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอุบัติใหม่และการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 โดยจะมีการสำรวจ “ไวรัสโคโรนา” และเชื้อโรคอุบัติใหม่ในค้างคาวอีก 23 ชนิด รวมทั้ง สัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง และสัตว์ป่าในธรรมชาติ

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เพื่อให้เกิดท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย รวมทั้งมาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสัตว์ป่า ด้านสุขอนามัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน, การให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในการอยู่ร่วมกันกับค้างคาวอย่างปลอดภัย, การตรวจตราและเฝ้าระวังโรคตามด่านตรวจสัตว์ป่าและแนวชายแดน โดยให้ด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ ยกระดับเป็นด่านตรวจสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ตลอดจนถึง มาตรการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามและจับกุมผู้ล่า ผู้ค้าสัตว์ป่า และผู้บริโภคสัตว์ป่าควบคู่กับการให้ความรู้ด้านกฎหมาย

นอกจากนี้ งานเฝ้าระวังฯ ดังกล่าวยังถูกบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ว่าด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ 3 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

“อาจกล่าวได้ว่า งานด้านนี้คือการป้องกันเชิงรุก เพื่อสำรวจเฝ้าระวังเชื้อโรคที่จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในคนจากสัตว์ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดไม่ให้เกิดเป็นวงกว้างได้

“ปัจจุบันมันเป็นเรื่องของสุขภาพหนึ่งเดียว One Health ที่จะรับรู้ร่วมกัน เชื่อมโยงกัน มันจะไม่แยกละ” นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าว

  158392197279

ทำไมต้องสัตว์ป่า: รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค วน.

จากงานศึกษาวิจัยทั่วโลกและของประเทศไทย พบข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า “โรคอุบัติใหม่” ที่เกิดในมนุษย์ กว่า 70% เกิดมาจากการติดต่อจากสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่า

ทั้งนี้ ค้างคาว ถูกพบว่าเป็น “แหล่งรังโรค” หลายชนิดในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ไม่ว่าจะเป็น MERS ที่ระบาดในแถบตะวันออกกลางในช่วงปี 2555 หรือ SARS ที่เคยระบาดในจีนในปี 2546 ทั้งนี้เนื่องจาก ค้างคาวเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์เลือดอุ่น สามารถติดต่อไปยังสัตว์อื่นหรือมนุษย์ง่ายกว่าสัตว์ต่างสายพันธุ์

แต่โดยปกติแล้วไวรัสจะไม่มีผลต่อค้างคาว แต่จะเริ่มแสดงผลเมื่อติดต่อไปยังสัตว์ตัวกลางและคน โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อในระหว่างการติดต่อนั่นเอง

การสำรวจเฝ้าระวังเชื้อโรคใหม่ๆในค้างคาวจึงเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในคนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อราวๆ 15-20 ปีที่แล้ว โดยในระยะเริ่มแรกได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของรัฐ เพื่อหาความหลากหลายของเชื้อไวรัสในสัตว์ป่า เพื่อนำมาสู่การประเมินความเสี่ยงในคนและการติดตามเฝ้าระวัง ทั้งนี้เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

โดยหลังจากที่โลกได้ค้นพบว่า ค้างคาวเป็น “แหล่งรังโรค” ของเชื้อไวรัสโคโรนาหลายชนิด โดยในปี 2546 พบการระบาดของโรค SARS และปี 2555 พบการระบาดของโรค MERS พร้อมๆกับองค์ความรู้ที่ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถตรวจพบได้ในคนและสัตว์หลายชนิด เช่น อูฐ แมว เป็นต้น โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 สกุล คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ซึ่งสองชนิดแรกคือกลุ่มที่ติดต่อมายังคน, กรมอุทยานฯ, ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเริ่มการศึกษาสำรวจเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คนเข้มข้นขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ PREDICT USAID ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Wildlife Trust PREDICT

โปรแกรม Wildlife Trust PREDICT มีองค์กร Wildlife Trust ของสหรัฐอเมริกา และสถาบันร่วมต่างๆ รวมทั้ง Wildlife Conservation Society, Global viral Forecasting initiative, และ สถาบัน Smithsonian ร่วมกันดำเนินโปรแกรม การทำนายการคุกคามโรคระบาดอุบัติใหม่ (Emerging Pandemic Threats: PREDICT) ครอบคลุมทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอุบัติใหม่ที่เกิดจากสัตว์ป่า

ทั้งนี้ จะมีการเน้นไปที่การศึกษาความหลากหลายของไวรัสก่อโรคชนิดต่างๆ ที่พบในสัตว์ป่า เพื่อพัฒนาไปสู่การประเมินความเสี่ยงและการสร้างแบบจำลองในการทำนาย รวมทั้งการพัฒนาร่วมกับหน่วยราชการในระดับประเทศเพื่อที่จะบรรจุการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ป่าเข้าในโครงสร้างพื้นฐานของการสาธารณสุข

ในประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการสำรวจระวังเชื้อไวรัสในค้างคาว ตั้งแต่ปี 2554 – 2561 และพบว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 139 สปีชีส์ ทั่วประเทศ ซึ่งรวมทั้งค้างคาวไผ่ ค้างคาวลูกหนู และค้างคาวปีกถุง ที่มีรายงานการพบเชื้อโรค MERS

มีการเก็บตัวอย่างจากค้างคาว จำนวน 4,021 ตัว โดยใช้ตัวอย่างมูลค้างคาวที่เก็บโดยวิธีสวอปจากรูทวาร (rectal swab) นำมาสกัดสารพันธุกรรมและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวน 57 ตัวอย่าง โดยพบเชื้อไวรัสโคโรนาสกุลอัลฟ่าจำนวน 19 ตัวอย่าง และสกุลเบต้าจำนวน 36 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ ตรวจพบเชื้อโรค MERS จำนวน 8 ตัวอย่างโดยตรวจพบในค้างคาวไผ่หัวแบน และค้างคาวปากย่น และพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ (lineage) เดียวกับเชื้อโรค SARS ในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Hipposideros larvatus

นอกจากนี้ ยังพบไวรัสสายพันธุ์เดียวกับเชื้อโรค SARS จากค้างคาวมงกุฎมลายู (Rhinolophus malayanusจำนวน 2 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นค้างคาวสกุลเดียวกับที่พบเชื้อไวรัสนี้ในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในกลุ่มโคโรนาไวรัสจากตัวอย่างค้างคาวในประเทศไทย แม้ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบการติดเชื้อในคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่นที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต รวมทั้งการติดต่อสู่คนได้โดยตรง นายสัตวแพทย์ภัทรพลสรุป

“เราต้องเรียนรู้ความเสี่ยงว่าคืออะไร โอกาสของการติดเชื้อในคน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวไวรัสเอง การกลายพันธุ์ ความสามารถในการหลบซ่อน เป็นต้น

“งานที่ทำจึงเป็นตัวที่ใช้ช่วยคาดการณ์อนาคต และความสำเร็จอยู่ที่มันถูกส่งต่อไปยังระดับนโยบายเพื่อช่วยกำหนดทิศทางในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ในประเทศ” นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าว พร้อมเสริมว่ายังมีความท้าทายที่ยังรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพงานระวังและงานที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการส่งต่อความรู้ไปประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าว

  158364884491

จากสัตว์สู่คน

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า โอกาสและความเสี่ยงของการเกิดโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คนนั้น ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาค้างคาวที่ทำงานร่วมกันในโครงการดังกล่าว กล่าวว่า เชื้อโรคในสัตว์ป่า โดยปกติแทบจะไม่ก่อผลแก่สัตว์ป่า จึงเป็นที่มาว่าทำไมสัตว์ป่าจึงมักเป็นเพียง “แหล่งรังโรค” ซึ่งมีโอกาสน้อยมากเช่นกันที่จะแพร่เชื้อไปสู่สัตว์อื่น

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างโอกาสและความเสี่ยงที่ทำให้แหล่งรังโรคและสัตว์พาหะเหล่านี้นำเชื้อมาใกล้ชิดมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย หรือการล่าและการบริโภคสัตว์ป่า และเป็นเหตุผลว่าทำไมสัตว์ป่าจึงแพร่เชื้อมาสู่คนได้ในที่สุด

ซึ่ง รศ.ดร. ประทีปกล่าวว่า การป้องกันการแพร่เชื้อจากสัตว์ป่าสู่คนจึงมีความสำคัญต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่และการระบาดของโรคในคน โดยนอกเหนือจากการป้องกันปรามปรามการลักลอบการทำลายถิ่นอาศัยสัตว์ป่าและการล่าและค้าสัตว์ป่าแล้ว งานสำรวจเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่ฯ ในอีกทางหนึ่ง จะช่วยสร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยเป็นฐานในการตรวจสอบติดตามโรคย้อนหลังได้รวดเร็วจากฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหมายรวมไปถึงการค้นหาเชื้อไวรัสใหม่ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ และการพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบย้อนหลังอย่างที่กำลังทำกันอยู่ หรือที่เรียกว่า active surveillance นั่นเอง ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง

“มันคือการจัดการกับแหล่งต้นตอ แล้วสร้างองค์ความรู้ในการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันโรค ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้าเกิดการระบาดสู่คน จะยากละ” รศ.ดร. ประทีป

ดร. สุภาภรณ์ วัชรพฤกษดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในการเกิดการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในคน จะใช้ระยะเวลาในการค้นหาโรคจนกว่าจะพบ ซึ่งหากยิ่งค้นหาได้เร็วหรือที่เรียกว่า early detection ก็จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของการระบาด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมงานเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน จึงมีนัยยะสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ในคน

ทั้งนี้ เนื่องจาก งานฝ้าระวังฯ นอกจากจะช่วยสร้างฐานข้อมูลของเชื้อโรคและติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคแล้ว ยังช่วยทางด้าน lab capacity building ซึ่งทำให้มีระบบการทำงานตรวจสอบผลที่รวดเร็ว อย่างกรณีที่ประเทศไทยพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ในผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศจีนเป็นแห่งแรกของโลก ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการโดยประเทศจีน เป็นต้น ซึ่ง ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่ง มาจากฐานข้อมูลและประสบการณ์ในการตรวจสอบค้นหาเชื้อโรคที่ทางทีมได้ร่วมงานกันมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี

“มันคือการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นทาง เราจะรู้เรื่องของเชื้อโรคใหม่ๆตั้งแต่ต้นตอก่อนจะระบาดมาสู่คน บางทีก็เป็นเชื้อใหม่ๆที่ยังบอกไม่ได้ว่าจะก้อโรคในคน แต่เราก็จะรู้ได้ว่ามันอยู่ที่ไหน ในสัตว์ประเภทใด

งานด้านนี้เป็นการสะสมทำข้อมูลด้านเชื้อโรคที่อาจติดต่อสู่คน รวมทั้งประสบการณ์เฉพาะด้านที่จะช่วยให้เรารับมือกับโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันไปสู่นโยบายได้

“อย่าลืมว่าโรคอุบัติใหม่ก็เหมือนชื่อของมันเลยคือ มันเกิดขึ้นทุกวัน ต่อเนื่อง หากเราไม่ทำตรงนี้ เราก็จะไม่มีองค์ความรู้ ฐานข้อมูลที่ต่อเนื่อง โรคที่เกิดใหม่ๆ เราก็จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับมัน การเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพก่อนจะมาถึงเราก็จะไม่เกิด” ดร.สุภาภรณ์กล่าว พร้อมกับเสริมว่าเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เพราะเป็นงานที่ต้องลงทุนสูงแต่ใช้เวลากว่าที่ผลจะปรากฎ

 

รูป/ กรมอุทยานฯ