‘ร้านแลกเงิน’ อ่วมยอดดิ่ง 70% ‘ซุปเปอร์ริชสีส้ม’ สั่งลดเงินเดือนผู้บริหาร 5% เซ่นพิษโควิด

‘ร้านแลกเงิน’ อ่วมยอดดิ่ง 70% ‘ซุปเปอร์ริชสีส้ม’ สั่งลดเงินเดือนผู้บริหาร 5% เซ่นพิษโควิด

“ธุรกิจแลกเงิน” อ่วมพิษ “โควิด-19” ทำยอดใช้บริการวูบ 30-70% “ซุปเปอร์ริสสีส้ม” สั่งลดเงินเดือนผู้บริหารลง 5% จนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น หวังช่วยประคองธุรกิจ ย้ำ “ไม่ลดเงินเดือน-ไม่ปลดพนังงาน” แต่ลดเวลาเปิดร้านลง ขณะ "ทเวลฟ์ วิคทอรี่"ยอมรับลูกค้าหาย 70%

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร แล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยหนึ่งในธุรกิจที่โดนผลกระทบตรงจาก โควิด-19 คือ ธุรกิจแลกเงิน ล่าสุดผู้บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์(1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม" ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว 

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ ซุเปอร์ริชสีส้ม กล่าวว่า ยอดการแลกเงินตราต่างประเทศของบริษัทในปัจจุบันปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยในเดือนก.พ.ลดลงราว 15-20% ส่วนในเดือนมี.ค.ลดลงราว 20-30% 

ผลกระทบดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายต่างๆลงมากให้มากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นมีมติ ลดเงินเดือนผู้บริหารระดับผู้อำนวยการขึ้นไปลง 5% เริ่มสิ้นเดือนมี.ค.นี้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และเตรียมทบทวนเวลาการเปิด-ปิดให้แลกเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวที่หายไป เช่น จากเดิมเปิด 9.00-20.00 น.ในพื้นที่นักท่องเที่ยวเยอะ อาจลดมาเปิดถึง 18.00 น.ได้ เพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องลดต้นทุนลง แต่บริษัทยืนยันว่า จะไม่ปิดการให้บริการบูธ หรือสาขาแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งหมด รวมไปถึงจะไม่ปลดพนักงานที่ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแน่นอน ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่บริษัทจะทำ

158384565139

นางชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ อุปนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) และประธานกรรมการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด กล่าวว่า ยอดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปัจจุบันลดลงไปกว่า 3 ใน 4 หรือราว 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่บริษัทยืนยันว่าจะยังไม่ปิดบูธแลกเงิน หรือปลดพนักงานแน่นอน เพราะลูกค้าที่ต้องการแลกเงินอาจได้รับผลกระทบ โดยบริษัทได้เตรียมมาตรการป้องกัน โควิด-19 และแนวปฎิบัติเพื่อให้พนักงานในบูธปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสดังกล่าว

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์  กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือและทบทวนกันถึงผลกระทบจาก โควิด-19 ว่าจะกระทบต่อธนาคาร พนักงาน และผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจแลกเงินตราต่างประเทศ ที่บางสถาบันการเงินมีการหยุดให้บริการแล้ว ว่าในส่วนของแบงก์ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงหรือไม่

เขากล่าวว่า ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมาทบทวนร่วมกันภายในอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการ หรือมีมาตรการอะไรออกมา และทุกอย่างต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจมีผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้บริการธนาคารได้ หากต้องปิดการให้บริการบูธแลกเงินไป เพราะการผลักคนเข้าสู่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดอาจเกิดขึ้นยาก

ด้าน นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การปิดให้บริการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศทั่วประเทศชั่วคราวนั้น ถือเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงของแบงก์ เพื่อป้องกันพนักงาน และผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นธนาคารจึงเลือกปิดความเสี่ยงต่างๆไปก่อน และไม่ได้ถือโอกาสนี้ในการหยุดให้บริการแลกเงินถาวร และผลักการทำธุรกรรมไปสู่ออนไลน์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทน เพราะมองว่า หากแบงก์จะปรับรูปแบบการทำธุรกิจสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบ และยังมองว่าธุรกิจแลกเงินยังมีความจำเป็น และสร้างรายได้ให้แบงก์อยู่