'กรมศุลกากร' เผยยอดส่งออก 'หน้ากากอนามัย' 2 เดือน 330 ตัน
กรมศุลฯ เผย ยังไม่พบลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัย สั่งเฝ้าระวังทุกด่านตรวจ ขณะที่ ระยะม.ค.-ก.พ.มียอดส่งออกรวม 330 ตัน นำเข้า 216 ตัน พร้อมจ่อเอาผิดเพจอ้างกรมศุลฯกักหน้ากากนำเข้า 5 ล้านตัน
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้เฝ้าระวังการลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัย แต่ยังไม่พบว่า มีการลักลอบการส่งออกหน้ากากแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า มียอดการส่งออกตามใบอนุญาตตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมารวม 330 ตัน มูลค่าส่งออกรวม 160 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนม.ค.มีจำนวนส่งออกหน้ากากอนามัยจำนวน 150 ตัน ในเดือนก.พ. ส่งออกประมาณ 180 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศ จีน ฮ่องกง อเมริกา ส่วนการนำเข้าพบว่า ในเดือนม.ค.มีจำนวน 145 ตัน ในเดือนก.พ.จำนวน 71 ตัน รวม 216 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน ต้องเสียภาษีนำเข้า 5%
“ในการส่งออกต้องมีใบอนุญาตตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนจะเป็นจำนวนเป็นชิ้นเท่าไหร่ยังประเมินลำบาก เพราะนำหนักไม่เท่ากัน ขณะนี้ มีการเฝ้าระวังการส่งออก ซึ่ง อธิบดีกรมศุลกากรสั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยงานไม่ให้ลักลอบส่งออกหน้ากากอนามัย โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์แสกนตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าสงสัยว่าจะส่งออกไม่ถูกต้อง รวมถึงการวิเคราะห์ข่าวความเป็นไปได้ของการลักลอบส่งออก ซึ่งยืนยันว่ากรมเฝ้าระวังเต็มที่ ป้องกันการลักลอบส่งออกโดยไม่ถูกต้อง”
นอกจากนี้ ยังให้การท่าอากาศยานช่วยดูเรื่องการหิ้วหน้ากากอนามัยออกนอกประเทศโดยไม่มีใบอนุญาตตามประกาศ จากการเอ็กซเรย์กระเป๋าของผู้โดยสารแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ส่งออกหรือนำติดตัวได้ไม่เกินคนละ 30 ชิ้น
ส่วนกรณีมีบางเพจ ไปลงข้อมูลว่า กรมฯมีการกักตู้สินค้านำหน้ากากจำนวน 5 ล้านชิ้น และมีเจ้าหน้าที่กรมขอแบ่ง 2 ล้านชิ้นเพื่อเอาไปใช้ รวมถึง มีการกล่าวหาว่ากรมฯส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจขายเกินราคาไหมนั้น จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมฯได้ตรวจสอบข้อมูลที่ระบุว่า มีการกักตู้สินค้าที่นำเข้าหน้ากากจำนวน 5 ล้านชิ้น โดยได้ตรวจสอบนำเข้าในด่านศุลกากรต่างๆ เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และที่สุวรรณภูมิ ไม่พบว่ามีกรณีไหนที่เจ้าหน้าที่ไปกักสินค้าดังกล่าวไว้ รวมถึง เช็คข้อมูลนำเข้าหน้ากากอนามัยตั้งแต่เดือนม.ค.ถึง 10 มี.ค.ก็ไม่พบผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้น แต่พบกรณีนำเข้ามากสุดในเดือนมี.ค.จำนวน 1 ล้านชิ้น ซึ่งตรวจปล่อยไปแล้ว ส่วนในเดือนม.ค.ถึงก.พ. ไม่มีนำเข้าถึง 5 ล้านชิ้น โดยสูงสุดที่นำเข้าคือ 2 ล้านชิ้น ในเดือนก.พ.
นอกจากนี้ กรมฯได้วิเคราะห์พบว่า รูปภาพหน้ากากอนามัยที่เพจดังกล่าวนำมาลง ไม่ใช่รูปหน้ากากที่ถูกกัก เพราะเป็นรูปเดียวสินค้าลงในโชปี้ ในประเทศอินโดนีเชีย แสดงว่าผู้ลงข้อมูลนี้ไม่ได้เอารูปที่ตัวเองเกี่ยวข้อง เป็นการเอารูปจากที่อื่นมา ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลใดสนับสนุนว่าข้อมูลที่ลงเพจเป็นเรื่องจริง ส่วนกรณีส่งเจ้าหน้าที่ไปร้านขายยา กรมฯไม่มีนโยบายให้ไปดำเนินการลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมฯที่จะไปตรวจจับเรื่องสินค้าขายเกินราคา
“ประเมินว่า เจ้าของเพจอ้างกรมศุลกากร เพราะไม่มีหน้ากากส่งให้ลูกค้า ถ้าเจ้าของข้อมูลคิดว่าข้อมูลตัวเองเป็นเรื่องจริงให้มายืนยันว่ากับกรมฯ ซึ่งกรมฯยินดีรับฟังและแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าไม่ถูกต้องขอให้รับผิดชอบกับสิ่งทำไปด้วย เพื่อไม่ให้สังคมสับสน ขณะนี้ กำลังพิจาณาว่าจะดำเนินการทางใดได้บ้าง แต่เบื้องต้นขอความกรุณาว่าหากรู้เท่าเท่าไม่ถึงการณ์ให้ลบข้อมูลทิ้งไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน”