รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนออกแถลงการณ์รับมือโควิด-19
ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้ดำเนินการแล้วสำเร็จในปีนี้ เน้นส่งเสริมใช้ดิจิทัลอำนวยความสะดวก MSMEs เร่งลงนามความตกลง RCEP จัดทำแผนงานด้านความมั่นคงอาหาร
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 9 - 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกและอาเซียน และได้ร่วมประกาศแถลงการณ์ เรื่อง “การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียนในการรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา”
โดยเห็นพ้องที่จะเร่งดำเนินการช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น รักษาตลาดอาเซียนที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างกันที่ช่วยให้อาเซียนสามารถตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ MSMEs สามารถดำเนินต่อไปได้ และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในอาเซียน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจ ที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปี 2563 ภายใต้แนวคิด“อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว” (Cohesive and Responsive ASEAN) โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านแรก เน้นการส่งเสริมการบูรณาการและความเชื่อมโยงภายในอาเซียน เช่น การส่งเสริมอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่ใช้ดิจิทัลร่วมกัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะในประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคให้เป็นระบบเดียวกัน ด้านที่สอง คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประชาคมโลก เช่น การลงนามความตกลงอาร์เซ็ป( RCEP )ในปีนี้ และด้านสุดท้าย การเสริมสร้างอาเซียนให้พร้อมปรับตัวและมีศักยภาพมากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมของประเทศในอาเซียน และการจัดทำแผนงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยหลายประเด็นสานต่อจากไทยที่ริเริ่มไว้ในฐานะประธานอาเซียนปีที่แล้ว เช่น การส่งเสริมอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่ใช้ดิจิทัลร่วมกัน การจัดทำแผนงานต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และการลงนามความตกลง RCEP ในปีนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ เช่น การเริ่มใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำการค้าระหว่างกัน และการลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านรถยนต์ของอาเซียน โดยเวียดนามซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายตอบรับจะเร่งรัดกระบวนการในประเทศให้สามารถดำเนินการประเด็นดังกล่าวทั้งหมดภายในปีนี้ สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค เน้นให้ความสำคัญกับการลงนามความตกลง อาร์เซ็ป ภายในปีนี้ เป็นลำดับแรก พร้อมทั้งเดินหน้าเปิดตลาดการค้าสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมกับเกาหลีใต้โดยเร็ว
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ในประเด็นที่ภาคเอกชนอาเซียนต้องการผลักดันให้อาเซียนดำเนินการ โดยเสนอที่จะดำเนินโครงการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน และเพื่ออำนวยความสะดวกการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของ MSMEs ให้สามารถเริ่มต้น ขยาย และรักษาธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ขอให้ภาคเอกชนดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน เพื่อให้มีความสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกัน
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์ โดยไทยเกินดุล 17,880 ล้านดอลลาร์ สำหรับตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์