สอน.ดันไบโอฮับ 'อีอีซี' ผุดศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ

สอน.ดันไบโอฮับ 'อีอีซี' ผุดศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพ

อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอ้อยเป็นพืชที่ต่อยอดอุตสาหกรรมนี้ได้ แต่ต้องมีการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์

วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอน.อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ และสร้างห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล รองรับการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO 17025 

ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัย โดยการสร้างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอ้อย น้ำตาลทราย และพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ยังทดสอบคุณสมบัติมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเป็นศูนย์กลางในการค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบมุ่งสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 

รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ New S-curve ของรัฐบาลด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ภายในอีอีซี โดยเป็นการดำเนินการขั้นกลางเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทย และสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้ผลิตและจำหน่ายอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 3 ต.ท่าพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอีอีซี ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการผลิตพลาสติกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความพร้อมในการพัฒนาไปสู่การผลิตด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ 

การตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพจากอ้อย น้ำตาลทราย และพืชเศรษฐกิจอื่น เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพต่อไป

158410303949

สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งนี้ ใช้งบ 80 ล้านบาท และจะใช้เงินในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ 40-50 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มสร้างไปแล้วในปีนี้ และจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2564 และจะเปิดดำเนินงานได้ในปี 2565 โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 4,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 

1.พื้นที่ห้องปฏิบัติการรองรับกระบวนการผลิตต้นแบบ ด้วยระบบการกลั่น ด้านระบบการทำผงแห้ง ด้านการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ด้านการผสม ด้านการหมัก กระบวนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กระบวนการบรรจุ และฆ่าเชื้อ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง 

2.พื้นที่ห้องปฏิบัติการด้านกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

3.พื้นที่ด้านการวิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

4.พื้นที่ห้องประชุม เพื่อรองรับการอบรมสัมมนาแก่นักวิจัย ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ

การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพจะเหมือนกับศูนย์ ITC (Industry transformation center) หรือศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกระจายอยู่ในภูมิภาค ซึ่งจะเน้นปฏิรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ ยกระดับผลผลิตการเกษตรไปสู่สินค้าทางชีวภาพที่มีมูลค่าสูง จะเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าชีวภาพจากอ้อย น้ำตาลทราย และพืชเศรษฐกิจอื่น 

ตลอดจนการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิต การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และพัฒนาทักษะให้ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการทดสอบคุณสมบัติ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมชีวภาพ และเป็นศูนย์กลางในการค้นความทดลอง ทดสอบ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบมุ่งสู่เชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งศูนย์ฯนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย

“ศูนย์ฯแห่งนี้จะเป็นเหมือนโรงงานต้นแบบ เครื่องจักรที่ติดตั้งในศูนย์ฯนี้ ปรับแต่งการทำงานที่รองรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้หลากหลายชนิด"

ทั้งนี้ ซึ่งผู้ประกอบการจะนำผลการวิจัยจากการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการ มาขยายต่อยอดการผลิตเป็นสินค้าต้นแบบที่มีจำนวนมาก โดยทั้งนี้ เมื่อผ่านการผลิตในโรงงานต้นแบบจนสูตรการผลิตมีความนิ่ง และคุ้มค่าในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะลงทุนตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าชีวภาพในเชิงพาณิชย์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยได้รวดเร็ว 

รวมทั้งเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในอนาคตหลังเปิดดำเนินงานได้ 1-2 ปี จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อขยายศักยภาพของให้รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)หรือระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ของรัฐบาล ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้อีอีซี มีจุดเด่นเรื่องความหลากหลายของผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายชนิด 

รวมถึงการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศภายใต้ BCG จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของผลไม้สำคัญ เช่น ทุเรียน ตั้งแต่การส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกแบบเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปเพื่อเป็นอาหาร อาหารสัตว์ การสกัดสารมูลค่าสูงในทุเรียนเพื่อใช้เป็นเวชสำอาง