สธ.จ่อเอาผิดรพ.เอกชนตรวจนักแสดงหนุ่ม พบสงสัยโควิด-19แล้วไม่แจ้ง
สธ.พบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันเพิ่ม 7 ราย รวมนักแสดงหนุ่ม เปรียบเทียบปรับรพ.เอกชนไม่แจ้งพบผู้ต้องสงสัย-ผู้ป่วยโควิด-19 ย้ำป่วยโควิด-19ตรวจ-รักษาฟรีทุกรพ.
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 มีนาคม 2563 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19(COVID-19) ว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 7 ราย โดยรายแรก เป็นหญิงอายุ 63 ปี เป็นมารดาที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่เป็นกลุ่มเพื่อนไปสังสรรค์และติดเชื้อเป็นกลุ่ม รายที่ 2,3,4,5 เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน มารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม. มีประวัติมารดาอายุ 57 ปี กลับจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 จากนั้นวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอมีเสมหะ รายที่ 3 หญิงไทย อายุ 30 ปี (บุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท ให้ประวัติเพื่อนมาจากเกาหลีใต้วันที่ 2 มีนาคม 2563 และมารดามาจากญี่ปุ่น เริ่มป่วยวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ
รายที่ 4 ชายญี่ปุ่น อายุ 33 ปี (สามีบุตรสาว) อาชีพพนักงานบริษัท เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ รายที่ 5 เด็กหญิงไทย อายุ 4 ปี (หลาน) เริ่มป่วย 9 มีนาคม 2563 มีไข้ ไอ มีเสมหะ รายที่ 6 เป็นหญิงไทย อายุ 20 ปี เดินทางกลับจากญี่ปุ่นถึงไทย 14 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มป่วยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีเสมหะ หลังมีเสมหะอาการมีไม่ดีขึ้น วันที่ 11 มีนาคม 2563 จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม. และรายที่ 7 เป็นชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพนักแสดงและพิธีกร เริ่มป่วย 11 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติมีเพื่อนเดินทางมาจากต่างประเทศ รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี อยู่ระหว่างติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ จะติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการทั้งหมด เบื้องต้นมีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังรอผลสอบสวนโรคประมาณ 36 ราย เมื่อได้รับการยืนยันจะแถลงให้ทราบต่อไป สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 35 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 46 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 82 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 13 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,713 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,014 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,699 ราย
“บทเรียนที่เจอจากผู้ป่วยในช่วงนี้คือ เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือทำงานใกล้ชิดกับนักท่องที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่พื้นที่อยู่ในกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก และเมื่อกลับมาจากต่างประเทศแล้วยังมีการไปสังสรรค์ พบปะคนจำนวนมาก และยังสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว โดยไม่ระวังตัวทำให้เกิดการติดเป็นกลุ่มก้อน จึงขอย้ำให้ประชาชนทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กลับจากต่างประเทศอย่าประมาท ต้องแยกตัวเอง 14 วัน แยกของใช้ส่วนตัว งดกิจกรรมสังคม ไม่ไปในที่คนหนาแน่น เมื่อมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติ”นายแพทย์สุขุมกล่าว
ป่วยโควิด-19รักษาฟรีทุกรพ.
นายแพทย์สุขุม กล่าวอีกว่า ในส่วนของตรวจวินิจฉัยและรักษาหากได้รับการยืนยันว่าป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆไม่ว่าจะเป็นการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน แต่หากกรณีที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์การต้องตรวจวินิจฉัยโควิด-19แล้วประชาชนต้องการตรวจเองและผลออกมาว่าไม่ติดเชื้อ ผู้ที่ตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอาจพิจารณาอออกระเบียบเป็นข้อกฎหมายให้สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อรับรักษาผู้ป่วยรายนั้นต่อไป ในกรณีที่ผลยืนยันว่าติดเชื้อ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ
เอาผิดรพ.เอกชนไม่แจ้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย พบว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไปตรวจนั้นให้นักแสดงกลับบ้านก่อนมาฟังผลในวันต่อมา
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้น สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เมื่อมีมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาขอตรวจโควิด-19และเข้าเกณฑ์ข้อบ่งชี้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โรงพยาบาลจะต้องแยกไปในห้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ ซึ่งจะต้องจัดให้มีการซักประวัติ คัดกรอง เฝ้าระวังและแยกผู้ป่วย จากนั้นโรงพยาบาลต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง และส่งสารคัดหลั่งผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)
“ขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดคนไข้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลตลอด ห้ามปล่อยคนไข้กลับบ้านจนกว่าผลห้องแล็บจะแสดงว่าเป็นลบไม่ติดเชื้อ หากปล่อยให้คนไข้กลับไปรอผลแล็บนอกโรงพยาบาลนั้น สถานพยาบาลจะมีโทษจำคุกและปรับ แต่หากผลเป็นบวกคือติดเชื้อ จะต้องเก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจเพื่อยืนยันจาก 2 ห้องแล็บ เก็บประวัติคนไข้และประสานผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรคเพื่อสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป”ทันตแพทย์อาคมกล่าว
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ดังนั้น โรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยแค่สงสัยว่าคนนั้นจะเป็นโควิด-19ก็จะต้องรายงานมาที่กรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งกรมได้พยายามกำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึง ห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ที่รับตัวอย่างมาตรวจ จะต้องแจ้งที่กรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมงเช่นกัน หากโรงพยาบาลหรือห้องแล็บไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทางกรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถติดตามผู้ป่วยและสถานการณ์ได้รวดเร็วเป็นจริงตามสถานการณ์รายวัน
“กรณีนักแสดงหนุ่ม หากการสอบสวนโรคพบว่าสถานพยาบาลที่ตรวจเชื้อ บอกให้คนไข้กลับบ้านไปแล้วมาฟังผลในวันต่อมาและสถานพยายาลไม่ได้แจ้งกรมควบคุมโรคว่าพบผู้ต้องสงสัยโควิด-19 จะถือว่ามีความผิด เพราะการที่สถานพยาบาลเก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจแล็บก็แสดงว่าคนไข้รายนั้นเป็นผู้ต้องสงสัยโรคโควิด-19แล้ว จะต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้มีการพิจารณาเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับกับสถานพยาบาลเอกชนดังกล่าว”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายฯ จะมีความผิดฐานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่แจ้งการพบผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยโควิด-19ต่อกรมควบคุมโรค ภายใน 3 ชั่วโมง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท