ลงนามอาร์เซ็ปส่อเลื่อน จากพิษโควิด-19

ลงนามอาร์เซ็ปส่อเลื่อน จากพิษโควิด-19

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หวั่น “อาร์เซ็ป” อาจลงนามไม่ทันสิ้นปีนี้ตามแผน หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบแผนการทำงานของสมาชิกอาร์เซ็ป

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (อย่างไม่เป็นทางการ) หรือ เออีเอ็ม รีทรีท ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความกังวลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สงผลกระทบต่อการเดินทาง และต้องกักตัว 14 วัน หากเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดนั้น จะกระทบต่อแผนการทำงานของสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และอาจทำให้การลงนามความตกลงของสมาชิกภายในสิ้นปีนี้ ที่เวียดนามต้องเลื่อนออกไปได้

ทั้งนี้เพราะขณะนี้ สมาชิกอยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลง และเจรจาประเด็นคงค้างต่างๆ ซึ่งในเรื่องการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย จะต้องมีการประชุมทุกเดือน และสมาชิก 15 ประเทศ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ แต่ขณะนี้ สมาชิกหลายประเทศ ปฏิเสธที่จะเดินทางมาประชุมที่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงอาจทำให้ไม่สามารถขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายได้เสร็จตามเป้าหมายอย่างช้าภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกไม่สามารถเตรียมการภายในของตนให้พร้อมเพื่อลงนามในสิ้นปีนี้ได้

158425416546

ส่วนในเรื่องประเด็นคงค้าง ที่ยังเจรจาไม่จบนั้น คณะกรรมการเจรจาจัดทำอาเซ็ป (อาร์เซ็ป ทีเอ็นซี) ที่เป็นผู้เจรจา และมีแผนจะประชุมทุกๆ 2 เดือนนั้น ก็อาจไม่สามารถเจรจาต่อได้เช่นกัน ดังนั้น เออีเอ็ม จึงได้มอบหมายให้ทีเอ็นซี เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหา เช่น การประชุมผ่านวิดิโอ คอนเฟอร์เรนซ์ หรือวิธีการอื่นใดผ่านทางดิจิทัล เพื่อให้แผนการทำงานยังคงเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การประชุมผ่านวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ อาจมีปัญหาที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตของแต่ละประเทศ ที่มีความแรง หรือความเสถียรต่างกัน อาจทำให้การประชุมติดๆ ขัดๆ หรือไม่ราบลื่น รวมถึงการเช่าใช้สัญญาณอาจมีราคาแพงมาก เช่น ของไทยวันละ 30,000 บาท จึงอาจเกิดความไม่สะดวกในการประชุมผ่านวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจาประเด็นคงค้างนั้น ปลายเดือนมี.ค.นี้ จะมีการประชุมทีเอ็นซี ที่เกาหลีใต้ แต่ได้เปลี่ยนสถานที่จัดการประชุมมาจัดที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียแทน และคาดว่าคู่เจรจาคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย


นอกจากนี้แล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังกระทบต่อการประชุมระดับนานาชาติขององค์กรต่างๆ ด้วย เช่น การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค), การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (ดับบลิวืโอ) ครั้งที่ 12 ที่คาซัคสถานเดือนมิ.ย.นี้ ก็เลื่อนออกไปแล้ว ขณะเดียวกัน การประชุมคณะทำงาน หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของดับบลิวทีโอขณะนี้หยุดทั้งหมด เพราะเกิดการระบาดหนักในยุโรป เป็นต้น