‘หุ้นกู้’ ดอกเบี้ยสูง อีกความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง
ภาวะฉุกเฉิน กลายเป็นมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้ ซึ่งกำลังสร้างภาวะช็อกในระยะสั้น ด้านสำนักวิจัยหลายแห่งก็เริ่มปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลง ภาครัฐก็ทำงานเชิงรุกตลอด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดูแล คือ ปัญหาสภาพคล่องของผู้ออกหุ้นกู้
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” รุนแรงกว่าที่ทั่วโลกคาดการณ์เอาไว้มาก เพราะเวลานี้การระบาดกำลัง “ขยายวง” ออกไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดเหล่านี้ ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “สหรัฐอเมริกา” โดย ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ออกมาประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ซึ่งการประกาศดังกล่าว จะช่วยเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐสามารถอนุมัติการใช้เงินส่วนกลางที่มีมากถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1.6 แสนล้านบาท เข้าบรรเทาปัญหาให้กับหน่วยงานท้องถิ่นได้
นอกจากนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินยังช่วยลดทอนความเข้มงวดของกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการดูแลด้านสุขภาพ และยังช่วยเร่งกระบวนการในการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการลุกลามออกไปมากกว่าเดิมได้ เรียกได้ว่า “ภาวะฉุกเฉิน” ที่ประกาศออกมา จะช่วยคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น เพียงแต่ในมุม “เศรษฐกิจ” แล้ว การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้กำลังสร้าง “ช็อก” ใน “ระยะสั้น” โดยเฉพาะช็อกจากปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ เพราะเท่ากับห้างร้านหรือกิจการต่างๆ อาจต้องปิดตัวชั่วคราว จึงเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศฉีดเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่ระบบธนาคาร เพื่อดูแลปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงิน
สำหรับประเทศไทยถ้าดู “ช็อก” ทางเศรษฐกิจ ถือว่า “รุนแรง” กว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก สะท้อนผ่านสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งทยอยปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงต่อเนื่อง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ล่าสุด ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงเป็น “ครั้งที่ 3” โดยครั้งนี้ปรับประมาณการเป็น “หดตัว” 0.4% จากเดิมครั้งแรกที่ประเมินว่าจะขยายตัว 2.8% เนื่องจากการระบาดแพร่ขยายออกไปทั่วโลก นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นหดตัว 0.3% จากเดิมเคยประเมินว่าจะขยายตัวได้ราว 2.7%
แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจไทยปีนี้พลิกเป็น “หดตัว” คงมีหลายธุรกิจที่ “พัง” ถ้ารัฐบาลรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่เข้ามาช่วยดูแล ที่ผ่านมาเราจึงเห็น “รัฐบาล” ร่วมกับ “ธปท.” ทำงาน “เชิงรุก” ออกมาตรการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ไปให้ได้ ซึ่งมาตรการที่ออกมา เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักหนี้เงินต้นพร้อมกับขยายเวลาชำระหนี้ออกไป เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเราเห็นว่า อีกหนึ่งภาคส่วนที่ “หน่วยงานรัฐ” ควรเร่งเข้ามาดูแลก่อนจะสายเกินแก้ คือ ปัญหาสภาพคล่องของผู้ออก “หุ้นกู้” โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือ “ไฮยิลด์บอนด์” ซึ่งปัจจุบันหุ้นกู้กลุ่มนี้มียอดคงค้างที่ออกขายรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท และมีดีลที่ครบกำหนดในปีนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีบางบริษัทที่เริ่มทนพิษโควิด-19 ไม่ไหว และออกอาการไม่ค่อยดีบ้างแล้ว หากรายใดรายหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา เกรงว่าจะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่น กลายเป็น “โดมิโน” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เราหวังว่า “ภาครัฐ” กำลังหามาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนสายเกินแก้!