เบื้องหลัง 'มหาธีร์' ลาออก
คลายข้อสงสัยเบื้องลึกเบื้องหลัง “มหาธีร์” ลาออกจากตแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยจากคนอายุ 94 ปี เป็น 72 ปี ของมาเลเซียเพื่อนบ้านเรา ทำให้คนไทยงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากไปอ่านศึกษามาจากหลายแหล่งข่าว ก็ขอนำมาเล่าต่อครับ
“มหาธีร์” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งเมื่ออายุ 92 ปี (หลังจากเคยเป็นมาครั้งหนึ่งแล้ว ระหว่าง ค.ศ. 1981-2003 รวม 22 ปี) เมื่อ 2 ปีที่แล้วเพราะทนการคอรัปชั่นขนานใหญ่ของนายกฯ Najib Razak ในเรื่องกองทุน 1MDB ไม่ไหว
ชัยชนะครั้งนี้มาจากความร่วมมือกับ “Anwar Ibrahim” คู่รักคู่แค้นผู้เคยเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายสมัยของตน แต่ถูกปลดและโดนคดีเรื่องเพศติดคุก 2 หน รวม 8 ปี มหาธีร์นำพรรคพวกออกจากพรรคใหญ่ UMNO ที่ครองอำนาจเป็นรัฐบาลมายาวนานและตนเองเคยเป็นหัวหน้าพรรคมาตั้งพรรคใหม่ มีชื่อว่า Bersatu พวกที่ออกมานี้ไม่พอใจนายกฯ Najib และมีผู้ใหญ่คนหนึ่งของพรรคที่เคยถูกปลดจากการเป็นรองนายกฯ และ รัฐมนตรีมหาดไทยมาร่วมงานการเมืองในพรรคใหม่นี้ด้วย คนนี้มีชื่อว่า Muhyiddin Yassin (จำชื่อคนนี้ไว้ดีนะครับ)
กลุ่มพรรคใหม่มีชื่อว่า Pakatan Harapan (PH) มาจากรวมตัวของBersatu / PKR ของ Anwar / DAP พรรคกลุ่มจีน / และPAN (พรรคแนวชาตินิยม) เมื่อชนะเลือกตั้งและรวมกับพรรคเล็กๆ ก็ได้ ส.ส.จำนวน 113 คนจากสภา 222 คน ซึ่งเรียกได้ว่า ปริ่มน้ำ กลุ่มพรรคนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวทางการเมืองของเชื้อชาติมาเลย์ (ที่เรียกกันว่า “ภูมิบุตรา” ซึ่งมีประชากรอยู่ 69% ของ 32 ล้านคน ทั้งประเทศ) จีน (ประชากร 24% ) อินเดีย (ประชากร 7%) ฝ่ายค้านก็ประกอบด้วย UMNO เจ้าเก่ากับ PAS และพรรคเล็กอื่นๆ
ตลอดเวลา 2 ปีของการครองอำนาจเป็นรัฐบาลของกลุ่ม PH ก็มีปัญหาภายในไม่หยุด โดยมีสาเหตุจาก (1) มหาธีร์เคยบอกว่าจะเป็นนายกฯไม่นานและจะให้ Anwar เป็นแทนแต่ 1 ปีก็แล้ว 2 ปีก็แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววจะลงจากอำนาจ แถมมีข่าวลือว่าจะให้คนอื่นมาเป็นแทนอีกด้วย พรรค PKR จึงไม่พอใจมาก (2) มหาธีร์นั้นไม่ชอบหน้า Anwar เป็นส่วนตัว มีปัญหากันมาตลอดถึงกับจัดการจน Anwar ติดคุก ปัญหาขัดแย้งนี้ปะทุขึ้นตลอดในกลุ่มพรรค
(3) อุดมการณ์ขัดแย้งกันพลพรรค Bersatu ยึดนโยบาย “ภูมิบุตรามาก่อน” (UMNO สนับสนุนการเป็น “พลเมืองชั้นแรก” ของมาเลย์ โดยมีอภิสิทธิ์ต่างๆ มากกว่าเชื้อชาติอื่น) ส่วน DAP ซึ่งเป็นพรรคคนจีนและ Anwar ต้องการพหุสังคมที่เท่าเทียมกัน (4) ความนิยมของ PH ตกเป็นลำดับเพราะคนมาเลย์ปรารถนานโยบาย “ภูมิบุตรมาก่อน" ตามแนว UMNO กลุ่มพรรค PH ดูจะห่างจากพวกเขาไปทุกที (5) สภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียเลวร้ายลง อัตราการเจริญเติบโตลดลงอย่างมาก
เมื่อสมาชิกกลุ่มพรรค PH ทนอยู่กันไม่ไหวและดูจะกอดกันจมน้ำ Bersatu กับ “งูเห่า” 11 คนจากกลุ่มจึงแยกตัวจากฝ่ายรัฐบาลและไปร่วมกับฝ่ายค้านตั้งรัฐบาลใหม่ มหาธีร์ก็ประกาศลาออกในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ. (ข่าววงในซุบซิบว่ามหาธีร์อาจสนับสนุนในตอนแรก แต่เปลี่ยนใจเมื่อเห็นว่าอาจถูกหักหลังไม่เอาเขาไปเป็นนายกฯ อีก การลาออกจะทำให้การเคลื่อนไหวเช่นนี้หยุดชะงักลงทันที)
เมื่อมหาธีร์ลาออก สมเด็จพระราชาธิบดีก็ทรงแต่งตั้งให้เขารักษาการนายกฯและกระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคต่างๆ ของฝ่ายต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นทันที ตั้งแต่วันจันทร์ที่ลาออกจนถึงวันศุกร์ มีข่าวออกมาพลิกไปพลิกมาว่าใครจะสามารถรวบรวม ส.ส.ได้เกินกว่า 111 คน ในตอนแรก Anwar มาแรงเพราะพรรคคนจีนพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กจำนวนมากสนับสนุนเพื่อสู้กับ UMNO มหาธีร์ก็ไม่หยุดพยายามเป็นผู้ประสานให้ตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีเขาเป็นนายกฯ เกมพลิกไปพลิกมาจนในวันเสาร์เช้าที่ 29 ก.พ. Anwar ประกาศว่าเขามีเสียงสนับสนุนเกินกว่าครึ่งหนึ่งและจะเป็นนายกฯ แต่ต่อมาในเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค. มหาธีร์ก็ประกาศว่าตนเองมี ส.ส. สนับสนุนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง สมเด็จพระราชาธิบดีก็ทรงแต่งตั้ง Muhyiddin Yassin (มูห์ยิดดินยัสซิน) เป็นนายกฯ เพราะมีหลักฐานว่ามี ส.ส.สนับสนุนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง
การเมืองมาเลเซียมีพรรคลงเลือกตั้ง 36 พรรคได้รับเลือกตั้ง 16 พรรคจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคมีดังนี้ กลุ่มพรรค PH มี ส.ส.รวม 113 คน ประกอบด้วย PKR ของAnwar 47 / DAP 42 / Bersatu 13 / PAN 11 และพรรคเล็กๆ อีกหลายพรรค ฝ่ายค้านมี ส.ส. 79 คน ประกอบด้วย ส.ส. UMNO 54 คน/PBB 13 คนและพรรคเล็กๆ
การมีหลายพรรคและหลายขนาดจึงทำให้คณิตศาสตร์ของการบวกกันให้เกิน 111 มีความเป็นไปได้ไม่จบสิ้นเพื่อตำแหน่งและอำนาจในการคุมกระทรวงต่างๆ การต่อรองจึงทำให้มีผลพลิกไปพลิกมา มหาธีร์ ก็บวกเลขเช่นเดียวกันและเมื่อพลาดก็ประกาศว่าในวันเปิดสภาที่ 9 มี.ค.ปีนี้ เขาจะยื่นมติไม่ไว้วางใจ (ฟังดูคุ้นๆ) ให้นับจำนวน ส.ส.ที่สนับสนุนว่าเกินกว่า 111 จริงหรือไม่ ฝ่ายมูห์ยิดดินนายกฯคนใหม่ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่อยู่ในวงการนานกว่า 30 ปี จึงตอบโต้เกมด้วยการประกาศว่าจะเลื่อนการเปิดสมัยประชุมสภาไปเป็นเวลา 2 เดือน
การพลิกผันกลับมามีอำนาจอีกครั้งของ UMNO โดยร่วมรัฐบาลกับ Bersatu และ “งูเห่า” 11 คนและพรรคเล็กๆ ภายใต้การนำของอดีตผู้อาวุโสของ UMNO ทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่า Najib จะหลุดจากคดี 1MDB และนโยบาย “ภูมิบุตรามาก่อน” จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง กอบกับนายกฯ คนใหม่ก็มีความเอนเอียงสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะกระแสประชาชนส่วนใหญ่มาแรงในด้านความเป็นชาตินิยม ในมิติเชื้อชาติและศาสนา การปรับตัวของรัฐบาลใหม่สู่กระแสนี้เพื่อรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2023 จึงทำให้เกิดความวิตกในเรื่องการปะทุของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเมืองประเทศนี้มายาวนาน
การเมืองของเพื่อนบ้านที่อยู่ทางทิศเหนือดูจะมีความละม้ายกับการเมืองมาเลเซีย เพียงแต่ความแตกแยกไม่ใช่ในมิติของศาสนาและเชื้อชาติ หากเคยเป็นเรื่องของการแตกแยกในมิติฐานะทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันเป็นเรื่องของการแตกแยกของวัย ทั้ง 2 เรื่องนี้เปรียบได้กับการหมักปุ๋ยจากวัสดุธรรมชาติที่มีตัวเร่งการบ่มเพาะเป็นปัจจัยสำคัญ