‘อนาคตสื่อ’ ท่ามกลางไวรัสโคโรน่า
อุตสาหกรรมสื่อสหรัฐที่อ่อนแรงอยู่แล้วตอนนี้กำลังเตรียมรับมือความผันผวนรอบใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมสื่อ ในช่วงที่ผู้คนต้องการข่าวสารที่เชื่อถือได้มากที่สุด
อุตสาหกรรมสื่อสหรัฐที่อ่อนแรงอยู่แล้วตอนนี้กำลังเตรียมรับมือความผันผวนรอบใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมสื่อ ในช่วงที่ผู้คนต้องการข่าวสารที่เชื่อถือได้มากที่สุด
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หนังสือพิมพ์น่าจะรับศึกหนักที่สุด หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์หายไปแล้ว 2,000 ราย คนข่าวลดลงครึ่งหนึ่ง องค์กรข่าวคาดว่า จะถูกกระทบจากการที่โฆษณาหายผลพวงจากเศรษฐกิจขาลง และอาจเห็นรายได้จากสมาชิกลดลงเพราะผู้อ่านลดค่าใช้จ่าย
งานประชุมและอีเวนท์ที่องค์กรข่าวบางแห่งใช้เป็นรายได้เสริมก็มีแนวโน้มจะหายไปด้วย ตราบเท่าที่ภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุขครั้งนี้ยังดำรงอยู่
“ถ้าคุณอยู่ได้ด้วยโฆษณาและตอนนี้เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจหดตัวในระยะสั้นแล้ว นั่นจะยิ่งแย่มาก สำหรับผู้เล่นท้องถิ่นรายเล็ก เจอตรงๆ แบบนี้ก็ยากที่จะฟื้นตัวโดยง่าย”
แกเบรียล คาห์น อาจารย์วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ผู้ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสื่อกล่าว
สัปดาห์นี้ “เดอะ สเตรนเจอร์” หนังสือพิมพ์แจกฟรีรายสัปดาห์ของซีแอตเทิล เริ่มเตือนถึงวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นและขอให้ผู้อ่านช่วยกันบริจาค ระบุ “รายได้ของหนังสือพิมพ์ 90% ทั้งการโฆษณา ค่าธรรมเนียมตั๋ว และการจัดอีเวนท์ ล้วนแล้วแต่เป็นงานรวมคนจำนวนมาก สถานการณ์ไวรัสโคโรน่ากวาดรายได้เหล่านี้หายไปในคราวเดียว”
เดเมียน แรดคลิฟ อาจารย์วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยออริกอน กล่าวว่า ในเวลาเดียวกันการระบาดของไวรัสกลับยื่นโอกาสพลิกกระแสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และสร้างความไว้วางใจในหมู่คนอ่าน
“ในช่วงเวลาวิกฤติสาธารณสุขทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ประชาชนจำเป็นต้องได้งานวารสารศาสตร์ที่ให้ข้อมูลและเชื่อถือได้มากกว่าที่เคย” แรดคลิฟกล่าวและว่า องค์กรสื่อหลายแห่งเลิกปิดกั้นเนื้อหาเฉพาะสมาชิก เพื่อแสดงให้เห็นว่า “วารสารศาสตร์เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
ส่วนคาห์นก็เห็นด้วยที่ว่า สำหรับสื่อหลายเจ้า “นี่เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถพัฒนาการเชื่อมต่อกับผู้อ่าน แล้วสถาปนาคุณค่าของตนเอง”
โจเซฟ ลิตเตอร์แมน หัวหน้ากองบรรณาธิการและยุทธศาสตร์ดิจิทัล สถาบันเลนเฟสต์ เจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน ฟิลาเดลเฟีย อินไควเรอร์ กล่าวว่า ช่วงทำข่าววิกฤติไวรัส องค์กรสื่อจะเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวงพอๆ กับโอกาส
“ผู้คนมีแนวโน้มเชื่อมั่นสื่อท้องถิ่นมากกว่าสื่อระดับชาติ ดังนั้นคุณต้องมีองค์กรข่าวท้องถิ่นที่เข้มแข็ง” ลิตเตอร์แมนกล่าว แต่ไม่วายเสริมว่าองค์กรสื่อกำลังถูกกดดันให้รายงานข่าวมากขึ้นเนื่องจากวิกฤติสาธารณสุขเลวร้ายลง ทำให้มีปัญหาหนักขึ้นไปอีก
“พวกเขาต้องจัดการกับความสมดุลระหว่างรักษาธุรกิจให้อยู่รอด พร้อมๆ กับสร้างหลักประกันว่าพนักงานของตนปลอดภัย”
งานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ถึงความสำคัญของสื่อท้องถิ่นในการจัดการกับการแพร่ระบาด ท่ามกลางผลประโยชน์สาธารณะอื่นๆ
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เมื่อปี 2561 พบว่า เจ้าหน้าที่ติดตามโรคจากศูนย์ควบคุมโรค (ซีดีซี) อาศัยรายงานข่าวท้องถิ่นจับตาการแพร่ระบาดของหลายโรค
“ซีดีซีอาศัยข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ให้ข้อมูลทำระบบเตือนภัยเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งสำคัญมากในการสกัดการแพร่ระบาด ถึงขณะนี้โซเชียลมีเดียเชื่อถือได้น้อยกว่ามาก”
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุด้วยว่า ชุมชนสหรัฐหลายแห่งกลายเป็นทะเลทรายข่าวสาร ไม่มีสื่อท้องถิ่นเลย
สำหรับการระบาดของไวรัสโคโรน่า คาห์นมองว่า วิกฤติคราวนี้อาจทำให้ผู้ชนะและผู้แพ้ในอุตสาหกรรมสื่อแบ่งแยกกันชัดเจนยิ่งขึ้น ใครอ่อนแอก็แพ้ไป
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและระดับภูมิภาคหลายฉบับของสหรัฐต้องเผชิญกับความไม่แน่ไม่นอน เมื่อเครือแกนเน็ตต์และเกตเฮาส์ควบรวมกิจการกัน แมคแคลทชีย์เจ้าใหญ่อีกรายล้มละลาย
โจชัว เบนตัน ผู้อำนวยการสถาบันวารสารศาสตร์นีแมน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าของบริษัทจะสนใจบัญชีมากกว่าภารกิจด้านวารสารศาสตร์หรือไม่
“บริษัทเหล่านี้ทุกแห่งถ้าไม่เป็นเจ้าของ บริหาร เป็นหนี้หนัก ก็เป็นหุ่นเชิดให้กับเฮดจ์ฟันด์หรือบริษัทหุ้นนอกตลาด 1 รายหรือมากกว่านั้น อย่างน้อยคาดว่าน่าจะมีการเลย์ออฟครั้งใหญ่อีกระลอก กรณีเลวร้ายที่สุด ภาวะถดถอยที่ได้ไวรัสโคโรน่ามาซ้ำเติมทำให้หนังสือพิมพ์รายวันต้องปิดตัวลงระลอกใหญ่ อย่างที่ผู้คนคาดการณ์เอาไว้แต่ไม่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ได้” เบนตันโพสต์ไว้ในบล็อก
ด้านลิชเตอร์แมนมองว่า ตัวแบบไม่หวังผลกำไรอย่างที่ฟิลาเดลเฟียและที่อื่นใช้ โดยอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริจาคก็มีความหวังอยู่บ้าง แต่ห้องข่าวจำเป็นต้องทำงานให้ดีขึ้นเพื่อสร้างมูลค่ากับผู้อ่านเสียก่อน
“เส้นทางที่เราจะเดินต่อไปข้างหน้าคือต้องได้การสนับสนุนจากผู้อ่านโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของทางออก”