จี้ กสทช. ดูแลคุณภาพ-ราคา 'อินเทอร์เน็ต' ตอบรับทำงานที่บ้าน
กมธ.ดีอีเอส กำชับ "กสทช." ดูแลคุณภาพ-ราคา "อินเทอร์เน็ต" ตอบรับทำงานที่บ้าน หนุนรัฐบาลส่งเสริม Work from home แนะเตรียมพร้อมรับทราฟฟิกเพิ่มสูงขึ้น
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ซึ่งล่าสุดทางรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี ได้ให้หน่วยราชการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน หรือ work from home และทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ได้ประสานงานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้แก่ CAT, TOT, AIS, TRUE, DTAC, 3BB
รวมถึงได้จัดทำ Application คู่มือการปฏิบัติราชการนอกสถานที่และคู่มือการใช้งาน ให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ทันที ซึ่งตรงนี้ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนอยากกำชับและติดตามการทำงานทั้งของ ก.ดีอีเอส และ สำนักงาน กสทช. คือจะต้องคอยติดตามกำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้านด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม ไม่มีการคิดราคาเพิ่มในช่วงวิกฤต ซึ่งการเตรียมพร้อมรองรับการทำงานที่บ้านในต่างประเทศ มีตัวอย่างที่ประเทศออสเตรเลีย รัฐมนตรีกระทรวง Communications, Cyber Safety and the Arts ก็ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการทุกราย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ กรณีต้องมีการทำงานที่บ้าน หรือเรียน หรือทำธุรกิจที่บ้านแล้ว ตรงนี้เขาศึกษาจากบทเรียนของประเทศอิตาลีที่มีทราฟฟิกของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นถึง 26% ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ดังนั้นรัฐบาลไทยก็จะต้องเตรียมพร้อมรองรับในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะจะต้องมีการใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร ทั้งภาพและเสียง เช่น วีดีโอคอนเฟอร์เลนซ์เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า หากต่อไปสถานการณ์การระบาดไม่ดีขึ้น และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องปิดประเทศ (lockdown) ที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้าน ตนเองในฐานะที่อยู่ในแวดวงด้านโทรคมนาคมการสื่อสารและดิจิทัลมานาน มีความห่วงใยในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมให้ดี มีความรัดกุมและรอบคอบ เพราะระบบโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทั้งภาคสังคม ภาคธุรกิจ เพราะจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ในด้านโทรคมนาคมจะต้องออกไปทำงานกรณีที่เน็ตเวิร์คมีปัญหา หรือใช้ติดต่อสื่อสารไม่ได้
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ทั้งวิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค ของผู้ให้บริการจะต้องคอยออกมาดูแลโครงข่ายอยู่ตลอดเวลา ภาครัฐควรมีมาตรการหรือการกำหนดกฎเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ยังคงสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ และถ้าเป็นไปได้ในการช่วยชี้แหล่งจัดหาอุปกรณ์การป้องกันการติดเชื้อ เช่นหน้ากากอนามัยเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ได้อย่างเพียงพอ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ต่อมาในเรื่องการทำระบบสำรองอุปกรณ์ ในกรณีที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น การจราจรด้านการสื่อสารมีมากขึ้น อาจจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความมั่นใจว่าจะสามารถนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมที่จำเป็นมาติดตั้งได้ ถึงแม้จะมีมาตรการปิดประเทศ รวมถึงรัฐบาลจะต้องมีการดูแลในเรื่องราคาการขนส่ง โดยเฉพาะอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม เพราะเมื่อมีการปิดประเทศการขนส่งอาจจะมีราคาสูงขึ้น แต่อุปกรณ์ด้านการสื่อสารยังมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไป
ที่สำคัญหากเกิดสถาการณ์ที่มีทราฟฟิคการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงมากๆ ทำให้เน็ตเวิร์คหนาแน่นหรือเต็มจริงๆ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญในส่วนนี้ เช่น ทราฟฟิกของแพลตฟอร์มที่ไม่สำคัญอาจจะต้องมีการตัดหรือยุติชั่วคราวไปก่อน เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลหรือหน่วยงานในช่วงวิกฤตสามารถทำได้อย่างราบรื่น เพราะแน่นอนว่าเมื่อมีการปิดประเทศ คนต้องอยู่กับบ้าน จะต้องมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากแน่นอน ดังนั้นเราจะต้องมีแผนเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ เช่น ภาคธุรกิจยังดำเนินต่อได้
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงดีอีเอส รวมถึง กสทช., ผู้ให้บริการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมวางแนวทางปฏิบัติรองรับสถานการณ์ที่อาจถึงขั้นปิดประเทศ เพราะการสื่อสารโทรคมนาคม จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจ ภาคสังคม เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมในยามวิกฤตได้” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว