รพ.ค่ายทหาร เตรียม 2,070 เตียง รับวิกฤติโควิด-19
กองทัพบก เตรียมโรงพยาบาลค่ายทหาร 2,070 เตียง รับวิกฤติโควิด-19
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก ( ศบค.19ทบ.) ที่มี พล.อ.ณฐพล ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.19ทบ. ได้สรุปรายงานสถานการณ์ประจำวันให้พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รับทราบถึงผลสรุปการปฏิบัติตามการสั่งการของ ผบ.ทบ.ที่สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.)จัดตั้ง ศบค.19 ของหน่วย
โดยรายงานสถานภาพกำลังพลและครอบครัว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ว่ามีสถานการณ์อย่างไร มีผู้ติดเชื้อหรือไม่ โดยรายงานผ่านกรมกิจการพลเรือนทหารบก พร้อมทั้งเน้นย้ำทุกหน่วยให้ดูแลทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) งดกิจกรรมและขั้นตอนของหน่วยที่จะจัดวันสถาปนา การรับ-ส่ง หน้าที่ และการเปิด-ปิดการฝึก สำหรับการศึกษาให้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย
ส่วนการดำเนินการในขั้นต่อไป อาจจะมีการแบ่งผลัดเข้ามาทำงานในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.)รวมถึงเวลารับประทานอาหารด้วย ทั้งนี้การใช้เครื่องมือของทหาร กรมแพทย์ทหารบก กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก สนับสนุนการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล การจัดจุดคัดกรองกำลังพลที่เข้ามาปฏิบัติงานใน บก.ทบ. และทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม ขณะที่การตรวจเลือกทหารกองประจำการให้ผู้บังคับหน่วยทุกระดับให้ความสำคัญ โดยขยายระยะเวลาในการตรวจเลือกให้มากขึ้น และใช้พื้นที่ให้เหมาะสม รวมถึงวางแผนการกระจายกำลังพลและบุคคลที่เข้ามาตรวจเลือกให้เรียบร้อย ให้ยกเลิกการรวมแถวตอนเช้าของหน่วย แต่ให้มีการสำรวจยอดตามเดิม พร้อมทั้งให้ สำนักปลัดบัญชีทหารบก เตรียมการด้านงบประมาณรองรับสถานการณ์รองรับโควิด-19 ประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 และให้ใช้ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนทุกระดับสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างแรงจูงใจให้ทหารกองประจำการสมัครเป็นทหารต่อ
ศบค.19 ทบ.ได้เตรียมพร้อมสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อแบ่งเป็น ดังนี้ ผู้ป่วยระดับ1 ได้แก่ กองพันเสนารักษ์ที่1 (พัน.สร.1) จ.ลพบุรี เตรียมเตียงรองรับ 150 เตียง, พัน .สร.2 จ.ปราจีนบุรี 150 เตียง, พัน.สร.3 จ.นครราชสีมา 150 เตียง ,พัน.สร.4 จ.พิษณุโลก 150 เตียง ,พัน สร.5 จ.นครศรีธรรมราช 150 เตียง ,พัน.สร.6 จ.ร้อยเอ็ด 150 เตียง ,พัน.สร.8 จ.เพชรบูรณ์ 150 เตียง ,พัน.สร.13 กรุงเทพมหานคร 150 เตียง ,พัน.สร.22 จ.นครราชสีมา 150 เตียง ,พัน.สร.23 จ.พิษณุโลก 150 เตียง, ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี 240 เตียง ,และ ปตอ.1 กรุงเทพมหานคร 200 เตียง รวม 1,940 เตียง
ส่วนการรองรับผู้ป่วยระดับ 2 ได้แก่ รพ.ค่ายสุรสิงหนาท จ.สระแก้ว 10 เตียง, รพ.ค่ายภาณุรังสี จ.ราชบุรี 10 เตียง ,รพ.ค่ายอดิศรจ.สระบุรี 10 เตียง, รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ 10 เตียง, รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร 10 เตียง ,รพ.ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ 10 เตียง, รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์ 10 เตียง ,รพ.ค่ายเทพสตรี – ศรีสุนทร จ.นครศรีธรรมราช 10 เตียง รวม 80 เตียง
สำหรับผู้ป่วยระดับ 3 ได้แก่ รพ.อานันทมหิดล จ.ลพบุรี 10 เตียง, รพ.ค่ายสุรนารี จ.นครรราชสีมา 10 เตียง ,รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจ.พิษณุโลก 10 เตียง, รพ.ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช 10เตียง และ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ กรุงเทพมหานคร 10 เตียง รวม50 เตียง
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ค กองพันเสนารักษ์ที่ 1