‘คลีน กรีน ลีน’ คาถาฟื้นธุรกิจของไทยหลังไวรัส
หลังจากวิกฤติไวรัสโคโรน่าผ่านพ้นไป เหล่าธุรกิจคงต้องเร่งฟื้นธุรกิจให้กลับมาดำเนินได้อย่างเต็มที่ แม้จะดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยาก เพียงท่องคาถา 3 คำ ได้แก่ คลีน กรีน ลีน และพยายามปรับตัวเพื่อให้ทันการณ์
แม้ว่าโควิด-19 จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายของคนไทยในระดับที่น่ากังวลเหมือนในยุโรป แต่ผลกระทบสำคัญของไวรัสตัวนี้ที่เห็นชัดแล้ว คือ อาการติดเชื้อที่ทำลายสุขภาพทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ โฉมหน้าเศรษฐกิจของหลายประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีหลายคนพูดกันว่า บทบาทสำคัญของไวรัสตัวนี้ไม่ใช่ตัวการร้ายมนุษยชาติ แต่เป็นการเร่งอนาคตให้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยคาดกันเอาไว้
โชคดีที่การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นหลังจากที่โลกออนไลน์มีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ทำให้เรามีความยืดหยุ่นในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจบางส่วนได้ โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นจากความไม่สะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งที่มีคนหมู่มากรวมตัวกัน เพียงไม่กี่สัปดาห์เราเห็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย เช่น การทำงานที่บ้าน การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูล การใช้สื่อโซเชียลในการพูดคุยกัน เป็นต้น
เทคโนโลยีกำหนดพฤติกรรม พฤติกรรมกำหนดกำลังซื้อ กำลังซื้อกำหนดธุรกิจ ธุรกิจกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพใหญ่ของประเทศ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ต้องรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ก็ต้องปรับห่วงโซ่การผลิตของตนเองให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่จะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วว่าเมื่อก่อน ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเครื่องมือด้านสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์เจาะเข้าไปในความคิดของลูกค้า จะได้รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า สามารถคาดการณ์ความต้องการได้ล่วงหน้า
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อปัญหาเรื่องไวรัสหมดไป คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ การซื้อของเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกจากการหมกตัวอยู่แต่ในบ้านมานาน คนที่อยากเที่ยวก็จะเริ่มมองหาว่าจะไปที่ไหนดี สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจย่อมทำให้กำลังซื้อของประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นทีละน้อย เพราะผลลำดับแรกของมาตรการย่อมมุ่งไปที่การฟื้นกำลังซื้อในประเทศจนถึงระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประเด็นก็คือ สินค้าประเภทไหนที่เป็นที่ต้องการก่อน?
ผลจากการระบาดของไวรัสต่างจากผลของสงครามหรือภัยธรรมชาติ มันไม่ได้ทำลายกำลังการผลิตของประเทศ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องมือเครื่องจักร แต่จะเป็นความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคก่อน ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป
ในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสในการเตรียมตัวของผู้ประกอบการในการสร้างมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มองหาโอกาสในการทำตลาดเตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จะได้เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่สามารถตอบสนองกำลังซื้อที่อัดอั้นมานานได้ อย่าลืมว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ลูกค้าจะใส่ใจเรื่องสุขภาพและความสะอาดมากขึ้น หลายคนอาจเคยชินกับการสั่งอาหารมากินมากกว่าไปกินที่ร้านเสียด้วยซ้ำ
พอเวลาผ่านไป คนจะเริ่มมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น ประเด็นก็คือ การเลือกเที่ยวของพวกเขาจะให้ความสำคัญกับความสะอาดที่ไหนที่เขาประทับใจเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย เขาย่อมบอกต่อ และจะทำให้คนอื่นอยากจะมาเที่ยวตาม ความเร็วในการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จึงขึ้นอยู่กับว่าที่ไหนสามารถทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้เร็วกว่า ว่าถ้าไปเที่ยวแล้วจะปลอดภัยไม่ได้ของแถมกลับมา
การเพิ่มขึ้นของคนที่ทำงานจากบ้าน แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการทำงานหลังจากนี้คงเปลี่ยนไปพอสมควร แม้ว่าการพบปะกัน การเดินทางมาทำงานยังมีความสำคัญอยู่ แต่บางตำแหน่งงานก็ไม่จำเป็นต้องมาที่ทำงานทุกวันก็ได้ การมีอิสระในการเลือกสถานที่ทำงาน ย่อมเปลี่ยนวิถีชีวิตของพนักงานเหล่านี้ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรบ้าง
สุภาษิตจีนกล่าวว่า วิกฤติ คือ โอกาสที่มาพร้อมกับพายุแห่งความสับสนวุ่นวาย ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ต้องสามารถมองทะลุความวุ่นวายเหล่านี้ได้
คาถาสู้พายุนี้มี 3 คำ คือ
คลีน หมายถึง การสร้างวัฒนธรรมสุขอนามัยที่ดีภายในสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและพนักงานของบริษัท
กรีน หมายถึง การให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม แม้ว่าวิกฤติคราวนี้จะเป็นวิกฤติไวรัส แต่ผลจากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เราเห็นว่ามลพิษสามารถลดลงได้ และสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ลีน หมายถึง การปรับให้ขนาดของธุรกิจให้เหมาะสม ไม่เทอะทะเกินไป เทคโนโลยีสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ หากมีการวางแผนที่ดีเหมือนกับการทำงานที่บ้าน ต้นทุนย่อมลดลง ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ความสามารถในการแข่งขันย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย