ค่ายรถหยุดสายการผลิตหนีโควิด-19 ฉุด 'จีดีพี' สหรัฐหดตัว14%
โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และบริษัทนิสสัน มอเตอร์ เตรียมระงับการผลิตที่โรงงานทั้งหมดในสหรัฐเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ หลังจากที่โรคโควิด-19แพร่ระบาดไปทั่วโลก
“ไมเคิล เฟโรลี” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐของเจพี มอร์แกน เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะหดตัวลง 14% ในไตรมาส 2/2563 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับสหรัฐจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
ตัวเลขคาดการณ์การหดตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐถึง 14% ในไตรมาส 2 ของปีนี้นั้น รุนแรงกว่าการหดตัว 8.4% ที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2551 ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก
เฟโลรี ระบุว่า การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงหาทางช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรสจะสนับสนุนด้านการคลังวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่การคาดการณ์นี้อาจไม่ไกลเกินจริง เนื่องจากขณะนี้ ภาคธุรกิจเริ่มประกาศหยุดดำเนินการชั่วคราว รอจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะบรรเทาเบาบางลง
เริ่มจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และบริษัทนิสสัน มอเตอร์ ที่เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมระงับการผลิตที่โรงงานทั้งหมดในสหรัฐเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ หลังจากที่โรคโควิด-19แพร่ระบาดไปทั่วโลก
โตโยต้า เปิดเผยว่า จะปิดโรงงานผลิตรถยนต์และส่วนประกอบทั้งหมดในสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโกเป็นเวลา 2 วันเริ่มตั้งแต่วันจันทร์(23มี.ค.)ที่จะถึงนี้ ขณะที่นิสสันระบุว่าจะระงับการผลิตในสหรัฐตั้งแต่วันศุกร์นี้(20มี.ค.)ไปจนถึงวันที่ 6 เม.ย.
“มาตรการนี้มีเพื่อช่วยรับรองสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานของเรา และจากการคาดการณ์ที่ว่าอุปสงค์ในตลาดจะปรับตัวลดลงเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19” โตโยต้า ระบุในแถลงการณ์ ขณะที่นิสสัน ระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความพยายามในการควบคุมโควิด-19
มาตรการของโตโยต้าและนิสสัน มีขึ้นหลังบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ ประกาศเมื่อวันพุธ (18มี.ค.)ที่ผ่านมาว่าจะระงับการผลิตที่โรงงาน 12 แห่งในอเมริกาเหนือเป็นเวลา 6 วันทำการ โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ (23มี.ค.)ถึงวันที่ 31 มี.ค. และปรับลดกำลังการผลิตลง 40,000 คันในช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะที่สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ และเฟียต ไครส์เลอร์ ออโตโมบิลส์ ประกาศปิดโรงงานในสหรัฐไปจนถึงวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งครอบคลุมถึงโรงงานในแคนาดา และเม็กซิโกแล้ว ตามคำขอจากสหภาพแรงงานรถยนต์สหรัฐ (ยูเอดับเบิลยู)
นอกจากปิดโรงงานในสหรัฐแล้ว โตโยต้า ยังทยอยปิดโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรปเพิ่มอีก 4 ประเทศ เนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักในยุโรป ส่งผลให้โตโยต้าต้องสั่งปิดโรงงานรวมทั้งสิ้น 6 ประเทศในยุโรป
โตโยต้าได้ระงับสายการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่โรงงานในอังกฤษและโปแลนด์แล้ว ส่วนโรงงานในสาธารณรัฐเช็ก และตุรกีจะเริ่มปิดตามมา ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปขอให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านขณะที่โควิด-19 แพร่ระบาด โดยก่อนหน้านี้ โตโยต้าได้สั่งปิดโรงงานในฝรั่งเศสและโปรตุเกสเป็นการชั่วคราวแล้ว
อย่างไรก็ตาม โตโยต้า ระบุว่าในขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเปิดทำการ โดยจะพิจารณาจากสถานการณ์ของแต่ละประเทศเป็นหลัก
ก่อนหน้านี้ โตโยต้าวางแผนที่จะเริ่มเปิดโรงงานในฝรั่งเศสอีกครั้งหลังจากวันที่ 31 มี.ค. แต่ขณะนี้ทางบริษัทได้แจ้งว่ายังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน
ทั้งนี้ โตโยต้ามียอดขายรถยนต์ 1.05 ล้านคันในยุโรปในปีที่ผ่าน เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับรถยนต์ไฮบริด
นอกจากรถยนต์แล้ว ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน อิงค์ ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของสหรัฐก็สั่งปิดโรงงานและระงับการผลิตในสหรัฐ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หลังจากพบพนักงานติดเชื้อ 1 ราย โดยพนักงานคนดังกล่าวทำงานอยู่ที่โรงงานในเมืองเมโนโมนี รัฐวิสคอนซิน ซึ่งบริษัทได้สั่งปิดโรงงานดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 29 มี.ค.
ความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลกระทบต่อพนักงานราว 2,000 คนที่โรงงานของบริษัทในสหรัฐ โดยฮาร์ลีย์ จะเลิกจ้างพนักงานเป็นการชั่วคราว แต่จะยังคงให้สวัสดิการด้านการแพทย์แก่พนักงานเหล่านั้น