แนะรัฐบาลสื่อสารแหล่งเดียวป้องกันความสับสน

 แนะรัฐบาลสื่อสารแหล่งเดียวป้องกันความสับสน

นักวิชาการด้านการสื่อสาร มธ. เสนอรัฐบาลใช้ การสื่อสารจากแหล่งเดียวอย่างเป็นทางการ เน้นการสื่อสารด้วยการเขียน และสื่อสารผ่าน Owned Media ในภาวะวิกฤต เพิ่มความเชื่อมั่น ลดความสับสน ควบคุมความถูกต้องของเนื้อหา

ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดังเช่นกรณีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน ผู้บริหารสถานการณ์วิกฤตคือ “ผู้บัญชาการ” หรือ Commander จะต้องนำทีมทั้งในด้านการบริหารจัดการสถานการณ์และการสื่อสาร

โดยในด้านการสื่อสารนั้น ทีมบริหารจะต้องมีการจัดการที่มีแผนงานรัดกุม รวบรวมข้อมูลทุกๆอย่างเข้ามาในศูนย์บัญชาการกลางแห่งนี้ และสื่อสารสู่สังคมตามช่องทางที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องเป็น “ One Team One Voice”สื่อสารตรงกัน ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ควรแหล่งสื่อสารมากกว่า 1 แหล่ง เพื่อเกิด Single Message ข้อมูลข่าวสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะประชาชนและสื่อมวลชน จะได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน เพิ่มความเชื่อมั่น ลดความสับสน ที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องข่าวลวงข่าวปลอมหรือ Fake New ของผู้ที่เจตนาสร้างข่าวลวง  รวมทั้งลดการสื่อสารคลาดเคลื่อน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจของสื่อและประชาชนได้ด้วย

“ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารภาวะวิกฤต ซึ่งทำได้หากมีระบบการสื่อสารที่ดี ชัดเจน มีประสิทธิภาพ การสื่อสารผ่านการประกาศทางการ มีตราของรัฐหรือทางการ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนทราบว่าเป็นข้อมูลที่จริง ถูกต้อง มีการกลั่นกรองมาแล้ว ในความสับสนวิกฤต สิ่งที่สังคมต้องการคือข่าว ทุกคนต้องการรู้ข่าวสารเพื่อจะได้ทำตัวให้ถูกต้อง ลดความกังวล และการมีศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองจุดนี้ได้ จะมีความสำคัญที่สุด”ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าว

ทุกคนต้องพึ่งพิงข่าวสารจากแหล่งนี้เป็นหลัก ความเป็นหนึ่งเดียวของข่าวสารก็จะเกิดขึ้น และการบริหารสถานการณ์ก็จะง่ายขึ้น แต่ขอย้ำว่า ข้อมูลต้องถูกต้อง ตรวจสอบแล้ว เป็นหนึ่งเดียวกัน และเน้นประโยชน์ของประชาชน หรือสมาชิกในสังคมนั้นเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง      

นอกจากนี้ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนฯ ยังได้นำเสนอวิธีการสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านสื่อบุคคลของศูนย์กลางบริหารสถานการณ์วิกฤต จะมีปัจจัยของท่าทาง ลักษณะน้ำเสียง และปัจจัยอื่นๆ ที่ยากต่อการควบคุม อาจก่อให้เกิดการจับประเด็นและการให้ความหมายที่ผิดไปจากเจตนาเดิม

การสื่อสารด้วยการเขียนเป็นเอกสารหรือการสื่อสารผ่านสื่อขององค์กรเองหรือที่เรียกว่า Owned Media เช่น การประกาศ การแจกข่าวประชาสัมพันธ์ แบบ Press Release รวมทั้งการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ผ่านด้วยการถ่ายทอดสด  Live ผ่านสื่อออนไลน์ถึงประชาชนและผู้สื่อข่าวขององค์กรสื่อโดยตรง ก็เป็นสิ่งที่แนะนำ เพราะจะทำให้การถ่ายทอดสารออกไปมีความถูกต้อง ไม่บิดเบือนประเด็นในสารนั้น ทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจอันเป็นปัญหาจากข้อจำกัดในด้านการสื่อสารของมนุษย์

ด้าน นายณภัทร กาญจนจัย กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ จำกัด (JC&CO) กล่าวว่า ด้วยบทบาทของการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยได้ให้คำแนะนำทั้งหน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นแนวทางในการสื่อสารข้อมูลไปยังสาธารณะชน ต้องทำการสื่อสารอย่างทันท่วงที และระมัดระวังในทุกๆ การสื่อสารเพื่อไม่ก่อให้เกิดความตระหนก

อาทิ องค์กรขนาดใหญ่ ที่มีบุคลากรในความดูแลจำนวนมาก และมีความใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ  จึงเริ่มต้นจากการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาด การดูแลสุขอนามัยกับบุคลากรภายในองค์กรทั้งหมด รวมทั้งการเพิ่มมาตรการฆ่าเชื้อโรคเพื่อให้กระบวนการทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันก็ดำเนินการสื่อสารไปยังประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาด จึงทำให้สามารถรักษาผลประกอบการ ทั้งยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

สำหรับภาคการศึกษารวมทั้งมหาวิทยาลัย ได้แนะนำให้ดำเนินการส่งต่อองค์ความรู้ในการผลิตนวัตกรรมที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งมอบไปยังบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงภาวะวิกฤต  และนำเสนอผลงานของแต่ละองค์กรที่ปรับรูปแบบการจัดการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 

ทั้งยังสนับสนุนการสื่อสารไปยังนักศึกษา เพื่อการรับรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพและการป้องกันพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส โดยเมื่อทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ประกอบกับการวางแผนการสื่อสารที่มีคุณภาพ จะทำให้ทุกองค์กรสามารถดำเนินการต่อได้ อีกทั้งความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล จะเป็นเหมือนสื่อบุคคลที่มีส่วนช่วยส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังสังคม ในภาวการณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนก อันจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ

ในส่วนของการแถลงข่าว ได้ปรับรูปแบบให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลีกเลี่ยงภาวะอันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยบริษัทได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ถ่ายทอดการแถลงข่าวไปยังสื่อมวลชน สร้างระบบการติดต่อสื่อสารแบบ Two-way Communication เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถสอบถามได้ทันท่วงทีเสมือนการสัมภาษณ์ในกิจกรรมแถลงข่าว จึงไม่ส่งผลกระทบการสื่อสารตามแนวทางการประชาสัมพันธ์