สั่งอาหารปลอดภัย ลดแพร่เชื้อโควิด-19

สั่งอาหารปลอดภัย ลดแพร่เชื้อโควิด-19

กรมอนามัย แนะประชาชนสั่งอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยในสถานการณ์โควิด -19 ร้านอาหาร-ผู้ส่ง-ผู้บริโภคต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ส่งอาหาร ร้านอาหารต้องปฎิบัติตามกฎกระทรวง สธ.จัดทีมตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อสุขอนามัย ควบคุม ลดแพร่เชื้อ

“สั่งอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ทั้งเจ้าของร้าน คนปรุง คนส่งและผู้สั่งอาหาร วันนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีคำตอบ...

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือหยุดอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด -19 ซึ่งเมื่อทุกคนอยู่บ้านวิถีชีวิตหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในการทำอาหาร หลายคนอาจต้องปรุงอาหารด้วยตนเอง และบางคนก็ต้องใช้บริการสั่งอาหารมากขึ้น

ดังนั้น การจะทำอย่างไรให้ทุกคนปลอดภัยในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านนั้น ต้องมี 3 ส่วนใหญ่ๆ ที่ช่วยกันเพื่อป้องกัน และลดการแพร่เชื้อโควิด -19 นั่นคือ  กลุ่มแรกผู้ประกอบการร้านอาหาร ถือเป็นส่วนแรกที่ต้องดูแลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยทั้งเรื่องการปรุงอาหาร การเลือกภาชนะในการจัดส่ง

158495922231

โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารและมีการส่งเดลิเวอรี่อยู่แล้ว กลุ่มนี้มีกระบวนการในการจัดการอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มร้านอาหารทั่วไปที่มีขายเฉพาะหน้าร้าน เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องมาขายเดลิเวอรี่ รวมถึงกลุ่มที่มีการขายอาหารออนไลน์อยู่แล้ว

“กลุ่มร้านอาหารนั้น จะมีการจดทะเบียนร้าน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มที่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียน ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบ และสุ่มตรวจตามพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น อาหารทุกชนิดที่ทุกร้านทำนั้น ต้องเป็นอาหารที่ถูกปรุงสุกเป็นครั้งๆ  และต้องไม่เป็นอาหารสุกๆ ดิบๆ ภาชนะที่เลือกใช้ต้อง ปิดมิดชิด บรรจุลงไปในอุปกรณ์อีกชิ้นก่อนการส่ง”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ขณะที่แม่ครัวต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบ ทำความสะอาดมือ ใช้ช้อนกลางในการชิมอาหารอย่าใช้อุปกรณ์ในการปรุงอาหารมาชิมอาหาร และถ้าไม่สบาย มีไข้ ควรหยุดงาน ขอให้ทุกท่านที่เป็นร้านอาหารที่มีใบอนุญาตยึดตามสุขลักษณะ ประกาศของสธ.ประกาศ  ทุกคนต้องใส่ใจในเรื่องนี้ ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

กลุ่มที่ 2.ผู้ที่จะส่งเดลิเวอรี่ทั้งหมด ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ ร้านอาหารที่มีพนักงานส่งอาหารอยู่แล้ว กับร้านอาหารที่ต้องใช้บริการบริษัทในการจัดส่งอาหาร ล่าสุดทางกรมอนามัยได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ และเน้นย้ำในเรื่องการดูแลความสะอาด ก่อนปฏิบัติงานทุกครั้งต้องล้างมือ สวมหน้ากาก รถที่ส่งอาหารจะต้องมีตัวกล่องที่ใส่เก็บอุณหภูมิอาหาร ต้องทำให้อาหารอยู่ในภาชนะที่มิดชิด เพื่อสุขลักษณะที่ดีสำหรับผู้บริโภค

ขณะนี้ผู้ประกอบการเดลิเวอรี่บางแห่งก็ได้มีการจัดการที่ดี โดยพยายามให้อาหารมีการแยกอย่าง ส่งอาหารทันที มีระยะห่างทั้งผู้บริโภคและผู้ไปส่ง มีการตรวจประวัติและสุขภาพของผู้ส่งอาหาร   เพราะผู้ส่งอาหารมีความสำคัญมาก  และถ้าอยู่ในช่วงที่ไม่สบาย ขอให้งดในการส่งอาหาร

“ในหลายบริษัทเริ่มปรับตัว  เปลี่ยนแปลงวิธีการส่งอาหาร เช่น เส้นทางเดียวกันจากเดิมที่มีการส่งไปพร้อมๆ กัน  ตอนนี้เริ่มมีการออกแบบให้เป็น 1 ครั้ง ต่อ 1 รายการที่สั่ง ทำให้ช่วงเวลาในการส่งอาหารไปถึงมือผู้บริโภคในระยะเวลาที่พอเหมาะ บางร้านถึงขั้นการันตีว่าอาหารไปถึงมือของผู้บริโภคยังคงร้อนหรืออุ่น” พญ.พรรณพิมล  กล่าว

158495921490

บางผู้ประกอบการส่งอาหาร ได้ขอให้ผู้บริโภคเป็นคนหยิบอาหารจากกล่อง โดยที่พนักงานขนส่งจะไม่หยิบจับ  มีการเปิดช่องทางรับข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนอย่างชัดเจน รวมถึงในวันที่ 26มี.ค. นี้ มีการเชิญผู้ประกอบการจัดส่งอาหารมาหารือและเน้นย้ำถึงแนวปฎิบัติ อีกครั้ง

สำหรับกลุ่มที่ 3 ผู้บริโภค ต้องเลือกร้านอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีความมั่นใจ หรือจากร้านที่จดทะเบียนแล้ว พญ.พรรณพิมล  กล่าวต่อว่าสำหรับผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปรุงอาหารสำเร็จมาแล้ว แนะนำให้ล้างมือให้สะอาด ถ่ายอาหารที่เตรียมมาลงในภาชนะของท่าน และอาหารที่ทำการปรุงอยากให้อุ่นอาหารให้สุข  ล้างมืออีกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งจะทำให้เราปลอดภัยในสถานการณ์ต่างๆ ได้   อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมมือกัน รักษาระยะเวลาที่ห่างกัน  และใช้ชีวิตได้ในการรับประทานอาหารอย่างสุขลักษณะ ปลอดภัย

ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีกฎหมายสำหรับผู้ส่งเดลิเวอรี่อย่างชัดเจน ซึ่งทางสธ.กำลังหาแนวทางในการดำเนินการหากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ควรจะเป็น  พญ.พรรณพิมล   กล่าวอีกว่าร้านอาหารอยู่ภายใต้กฎกระทรวงของสธ. และขณะนี้อยู่ในอำนาจท้องถิ่นที่ไปขึ้นทะเบียนขออนุญาต สธ.ได้ออกแนวทางปฏิบัติกับท้องถิ่น มีการออกไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น มีการสุ่มตรวจมากขึ้น

เชื่อว่ามีร้านอาหารจำนวนมากที่เปลี่ยนเป็นการจัดส่งอาหารมากขึ้น ได้มีการส่งทีมผ่านชมรมของร้านอาหารลงไปให้คำแนะนำร้านอาหารที่มีความมั่นใจ และอยากรักษาการบริการมาทำบริการขายส่งอาหารแทน เป็นการให้ข้อมูลและความรู้ไปช่วยสนับสนุน เพราะส่วนหนึ่งของร้านอาหารต้องประคองกิจการของตัวเองต่อไป

“เชื่อว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร จัดส่งอาหาร พร้อมปฎิบัติตามข้อแนะนำ และให้ควมร่วมมืออย่างดี เพราะหากมีข้อผิดพลาด และเกิดในโลกโซเซียล จะส่งผลต่อการประกอบการของเราเอง ทำให้ผู้ประกอบการทุกแห่งระมัดระวังในเรื่องนี้มาก จากการที่ได้หารือเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ที่เราติดตาม ค่อนข้างตอบสนองเร็วและทันที”พญ.พรรณพิมล กล่าว

สำหรับประเด็นการไปรอรับอาหาร หรือสินค้าจำนวนมากของผู้ส่งอาหารเดลิเวอรี่นั้น ขณะนี้สธ.กำลังจัดหามาตรการเพื่อเข้าไปจัดระบบในการจัดการหน้าร้านอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งร้านอาหาร ผู้ส่งอาหาร และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อยากย้ำประชาชนต้องเลือกร้านอาหาร และปฎิบัติตนเอง

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่าใครที่มีการซื้ออาหารมาเก็บไว้ในตู้เย็นจำนวนมาก อยากเชิญชวนว่าประเทศไทยเป็นแหล่งอาหาร และมีความพร้อมในการส่งอาหารตลอดเวลา ไม่เหมือนช่วงน้ำท่วม สถานการณ์ตอนนี้เข้าถึงอาหาร และสามารถปรุงสุกใหม่ได้ แต่หากซื้ออาหารสด ต้องเก็บให้ดี และถ้าซื้ออาหารปรุงสำเร็จรูป ต้องดูวันว่ามีการผลิตตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะทานอะไรก่อนหลังอย่างไร

ไม่ต้องรีบเรื่องการกักตุนอาหาร ฝากไปดูในตู้เย็น จัดระบบอาหาร และอยากให้คนที่ไม่ถูกกักกันมีกิจกรรมทางกาย แนวโน้มอาหารสำเร็จรูป มีกลุ่มแคลอรี่สูง อย่าลืมผัก ผลไม้ ล้างสะอาด