เปิดแผน ‘SC GRAND’ แบรนด์รีไซเคิล คือทางรอด

เปิดแผน ‘SC GRAND’  แบรนด์รีไซเคิล คือทางรอด

ตั้งใจชัดเจนแล้วว่าจะมุ่งขับเคลื่อนทั้ง“สองธุรกิจ” ไปบนเส้นทางความ “ยั่งยืน” ทั้งธุรกิจครอบครัวกับธุรกิจที่เขาก่อตั้งขึ้นเอง และออกตัวว่าไม่ใช่เป็นการเกาะกระแส แต่เพราะเป็นอนาคตของบริษัทอย่างแท้จริง

“จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ SC GRAND หรือบริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถี ไทย กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม “VT THAI”(วิถีไทย) ศูนย์กลางรวบรวมงานหัตถกรรมของคนไทยบนโลกออนไลน์ บอกว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) คือเส้นทางธุรกิจก้าวสู่อนาคต และยังเป็นทางรอดของโลกในอนาคตอีกด้วย


ทั้งบอกว่าที่จริง SC GRAND มีความถนัดในเรื่องของ Zero Waste มาช้านาน ก็เพราะเป็นโรงงานรีไซเคิลของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เปิดดำเนินการมากว่า 30 ปีแล้ว


โดยการนำเอาของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เกิดจากโรงงานปั่นด้าย,ทอผ้า,เย็บผ้าและอื่นๆ มา “Recycle” และ “Upcycle” เพื่อให้ทุกของเสียที่เกิดในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ถูกนำมาใช้ได้ใหม่ 100 % (บริษัทได้การรับรองจาก oeko-texและ GRS)


แม้จะทำมานาน แต่บริษัทก็เพิ่งขยับเริ่มมาสร้างแบรนด์เพื่อโลกอย่างจริงจังในยุคของเขา โดยกำหนดวิสัยทัศน์ ขอเป็นผู้นำเส้นด้ายรีไซเคิล ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรของเสียหรือของเหลือใช้ มารีไซเคิลใหม่ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีขึ้นกับโลก


แสงเจริญแกรนด์ เป็นคำที่มีความหมายที่ดี เพราะชื่อนี้มีที่มาจากชื่อของ “อากง” ดังนั้นจิรโรจน์ก็คือทายาทรุ่นที่สาม แต่พอมีการรีแบรนด์เป็น SC GRAND เขาจึงบอกว่า SC อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นคำย่อของ “Sustainable Cloth” ที่แสดงให้เห็นทิศทางของธุรกิจที่กำลังมุ่งไป


จิรโรจน์บอกว่า เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีโอกาสได้ไปเห็นกรณีศึกษาผู้ประกอบการที่ต่างประเทศ ซึ่งดำเนินการโรงปั่นด้ายเช่นเดียวกันกับ SC GRAND ที่แม้ว่าอายุธุรกิจจะยาวนานร่วมร้อยปีแล้วแต่ก็ยังคงโตต่อได้ โดยปรับตัวหันมามุ่งถึงสิ่งแวดล้อม กระทั่งมีลูกค้าแบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับโลกหลายต่อหลายแบรนด์


ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสิ่งทอนั้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นอุตสาหกรรมอันดับสองที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (อันดับหนึ่งคือ น้ำมัน) จิรโรจน์อธิบายว่าในการผลิตเสื้อยืดตัวหนึ่งต้องใช้น้ำมากถึงกว่าสองพันลิตร ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้องมีการเพาะปลูกฝ้ายใช้ทั้งน้ำ ทั้งปุ๋ย แรงงานและเวลาจำนวนมาก มีการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน


แต่ทุกอย่างจะพลิกกลับด้านหากการเสื้อยืดตัวหนึ่ง จะใช้วัตถุดิบที่รีไซเคิลทั้งหมด


ความตั้งใจของเขาก็คือ การทำให้ป้าย “SC GRAND Textile Recycling” เป็นตราประทับถึงการรีไซเคิล แสดงภาพของ Circular Stytem และทุกครั้งที่ลูกค้ามาซื้อไฟเบอร์ หรือเส้นด้ายกับ SC GRAND ก็จะได้ป้ายมาตรฐานนี้ติดมือไปด้วย
เสื้อตัวใดที่ติดป้ายนี้หมายถึง การได้ใช้ส่วนประกอบจากของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้าที่เหลือใช้,เศษผ้าจากโรงงานตัดเสื้อผ้า.เศษด้ายจากโรงงานทอผ้า รวมทั้งขวดพลาสติกเหลือใช้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ SC GRAND นำมาคัดแยกสีและรีไซเคิลใหม่ 100% โดยไม่ผ่านกระบวนการย้อมผ้า เพื่อช่วยถนอมโลกใบนี้ให้มีความยั่งยืน


“มองว่าคนเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เขาอยากซื้อสินค้าที่ดูแลโลก อาจมีราคาแพงกว่าเล็กน้อย นอกจากนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้าแบรนด์ระดับโลกไม่ว่าไนกี้ อาดิดาส จะเปลี่ยนวัตถุดิบสินค้าเป็นเส้นด้ายรีไซเคิลทั้งหมด เราเองต้องการสร้างแบรนด์เพื่อให้เห็นว่าเราอยากช่วยดูแลโลก และมีเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีนี้ สินค้าทุกตัวของเราต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเราต้องเป็นแบรนด์รีไซเคิลระดับท้อบ3 ในตลาดเซาท์อีสต์เอเชีย


สำหรับแพลตฟอร์ม “VT THAI” ซึ่งวางตัวเองเป็น Thai Handicraft Market Place หรือตลาดออนไลน์สำหรับคนที่ชอบสินค้างานฝีมือแบบไทยๆ ในปีนี้ก็ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งจิรโรจน์บอกว่าเกิดจากความเชื่อที่ว่าสินค้างานฝีมือไปได้ไกลหากดีไซน์การตลาดให้ดี


เพราะมีตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน อังกฤษและฝรั่งเศส ก็คือ Etsy , Folksy และ The Little Market ซึ่งในแต่ละปีก็สามารถขายสินค้างานฝีมือได้ถึงหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นล้านดอลลาร์กันเลยทีเดียว
จุดเริ่มต้นของเว็บวิถีไทย มาจากการที่จิรโรจน์เดินทางไปต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง และแทบทั้งประเทศก็มักจะเห็นสินค้าประเภทงานจักสาน งานผ้าทอวางขายเรียงรายข้างทาง โดยงานแต่ละชิ้นถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะในการทำแทบทั้งสิ้นและมีความสวยงามแบบคลาสสิก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าชาวต่างประเทศ หากเขาสร้างช่องทางให้คนทั่วโลกได้รู้จักก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นการช่วยรักษาและสืบสานวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบไทยๆ อีกด้วย


เขาเล่าให้ฟังถึงโรดแมพ 5 ปีของ VT THAI ว่าเมื่อเชื่อว่ามีโอกาสในปีแรกเขาก็ทำการทดลองตลาด โดยการนำเอางานฝีมือของชุมชนในประเทศไทยไปฝากขายบนเว็บไซต์ขายของออนไลน์ต่างๆ รวมถึงลองไปฝากขายตามร้านค้าย่านท่องเที่ยวและเห็นโอกาสที่เป็นไปได้ พอปีที่สองจังได้พัฒนาเว็บไซต์ VTThai.com มีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 200 รายนำเสนอสินค้างานฝีมือมากกว่า 2,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นงานจักสานและผ้าทอ โดยมีซัพพลายเออร์แบรนด์ต่างๆ และกลุ่มชาวบ้านประมาณเกือบ 200 รายร่วมกันนำเสนอสินค้าแฮนด์เมดกว่า 2,000 ชนิด (มากที่สุดคืองานจักสาน)


ปีนี้วิถีไทยเดินเข้าสู่ปีที่สาม เรามีแผนจะระดมทุน และจะประกาศว่าเราจะเป็น Cloud Handicraft Factory ไม่ว่าใครจะเป็นแบรนด์แฟชั่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ หากต้องการงานฝีมือสไตล์ไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ก็มาหาได้ที่เรา เราจะทำงานร่วมกับชุมชนในรูปแบบการค้าที่เป็นธรรม ให้เขาผลิตสินค้าตามที่เขาถนัด แต่กระบวนการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคิวซี ฝากขาย ส่งของ ติดต่อลูกค้า เราจะช่วยทำให้ เพราะเรามุ่งทำธุรกิจที่ยั่งยืน ย่อมต้องไม่ใช่วิธีฉกฉวยโอกาส”