เอกชนหวั่น พรก.กระทบโลจิสติกส์ ชงรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขขนส่งสินค้า
“สมาคมขนส่ง”รอความชัดเจนเคอร์ฟิว ชงรัฐอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าช่วงความต้องการสูง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ได้หารือสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาอุปสรรคหรือสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบช่วงนี้
สำหรับปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปสู่ศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) และจากดีซีไปสู่สาขาของห้างนั้น ผู้ผลิตทุกกลุ่มปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประสานกระทรวงคมนาคมให้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการขนส่ง รวมถึงผ่อนผันระยะการห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ามาเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นในด้วย เพื่อให้การกระจายสินค้าได้ทันที
ทั้งนี้ วันนี้ (26 มี.ค.) ได้เชิญกลุ่มค้าปลีกมาหารือเรื่องการจัดส่งสินค้า เช่น แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, รวมถึงกลุ่มธุรกิจส่งอาหาร เช่น ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด, ลาลามูฟ
นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ กล่าวว่า ปัญหาการขนส่งขณะนี้ คือ การจำกัดเวลาให้รถบรรทุกสินค้าวิ่งและการห้ามเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นใน เพื่อแก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จึงมีผลต่อการขนส่งสินค้าเข้าสู่ห้างในพื้นที่ชั้น ในขณะที่ประชาชนต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นมากจึงต้องการให้รัฐผ่อนคลายกฎระเบียบนี้
รวมทั้งล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ผ่อนผันระเบียบการขนส่งสินค้าจากมีการจำกัดเวลาให้วิ่งได้ในในช่วงเวลากลางคืน โดยให้วิ่งรถขนส่งสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กำหนดเวลา 1 เดือน ซึ่งอยากให้พิจารณาสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย โดยเฉพาะการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งค่อนข้างกังวลต่อการขนส่งสินค้า จึงขอให้รัฐบาลประกาศมาตรการให้ชัดเจนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติและภาคขนส่งพร้อมปฏิบัติตาม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชานายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เจรจาหน่วยงานรัฐที่ดูแลให้ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบังและสนามบินสุวรรณภูมิสำหรับการขนส่งสินค้าทำงานเต็มเวลาแม้จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเจ้าหน้าที่น้อยลงจะมีผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าผัก ผลไม้ และอาหารสด
“ต้องจัดตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนข้อมูลการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกและการนำเข้า และการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าระหว่างผลิตภายในประเทศ ในกรณีที่มีการล็อคดาวน์กรุงเทพฯ,เคอร์ฟิวส์ หรือปิดประเทศเพื่อให้กระบวนการผลิตและการส่งออกยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง”