ส่องมาตรการช่วยแรงงาน รองรับผลกระทบโควิด - 19

ส่องมาตรการช่วยแรงงาน รองรับผลกระทบโควิด - 19

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบ จำนวน 35,068 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 644,136 คน ส่วนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจำนวน 3,970 แห่ง ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ จำนวน 156,589 คน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาตรการเพื่อเยียวยาทุกกลุ่มที่กระทบในขณะนี้ โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาแรงงานในระบบ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม – 31 สิงหาคม 2563 ดังนี้

“กรณีผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ” เข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ หากแพทย์ประเมินอาการแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายป่วยโรคโควิด-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ หากผู้ประกันตนรายนั้นป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง

“ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน” เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่มีนายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน

“กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว” ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน

“กรณีลาออก” ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมร้อยละ 30) 

“กรณีเลิกจ้าง” ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน (เดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน) ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง

“ลดอัตราเงินสมทบ” และขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน “ในส่วนของนายจ้าง” ร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (เดิมร้อยละ 5 ) และ “ผู้ประกันตน” เหลือร้อยละ 1 (เดิมร้อยละ 5 ) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และ งวดเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

“กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอของบกลางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพื่อเยียวยาลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามอายุการทำงาน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างผ่านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 4,720 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องติดตามเงินดังกล่าวจากนายจ้างเพื่อส่งคืนเงินแก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป

“พัฒนาทักษะฝีมือ” ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ทำ (Up skill) หรือเพื่อประกอบอาชีพเสริม (Re - skill) ในหลักสูตรอาทิ ภาษาอังกฤษ การประยุกต์ใช้ IOT เพื่อการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาฝึก 1 เดือน/รุ่น กลุ่มเป้าหมายจำนวน 7,000 คน ( 350 รุ่น) ทั่วประเทศ งบประมาณ 35,000,000 บาท

"จ้างบัณฑิตที่ว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงาน" ในระดับพื้นที่ เพิ่มเป็น 841 อำเภอ อำเภอละ 2 คน (เดิม 38 อำเภอ) เพื่อให้บริการของกระทรวงแรงงานเข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การพัฒนาทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

  • ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

นางเธียรรัตน์   นะวะมะวัฒน์  รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าสำหรับแรงงานที่ว่างงาน ได้มีการ จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part - time รวบรวมตำแหน่งงานจากสถานประกอบการ และรวบรวมผู้ที่ต้องการหางานและทำงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับลูกจ้างที่ว่างงาน แรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการและเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และลูกจ้าง ให้ทั้งสองฝ่ายมาลงทะเบียน ซึ่งเป็นศูนย์ที่เราจัดตั้งอยู่แล้วและปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ข้อมูลของกรมการจัดหางาน ระบุว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งงานพาร์ทไทม์ ได้แก่ 1.พนักงานจัดส่งสินค้า(ดิลิเวอรี่) 20,500 อัตรา 2.พนักงานคลังสินค้า 2,000 อัตรา 3.พนักงานบริการ 374 อัตรา 4.พนักงานฝ่ายผลิต 100 อัตรา 5.พนักงานเสิร์ฟ 56 อัตรา 6.พนักงานครัว 55 อัตรา 7.พนักงานขาย 41 อัตรา 8.แคชเชียร์ 25 อัตรา 9.ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย 20 อัตรา 10.ธุรการ 18 อัตรา และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 28,363 อัตรา สามารถติดต่อได้ที่กรมการจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือผ่านเว็บไซต์ http://smartjob.doe.go.th ซึ่งให้บริการหางาน ครอบคลุมทั้งงานแบบเต็มเวลา และ Part-time แก่คนหางานทั่วไป นักเรียน/นักศึกษา กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ

นอกจากนี้ ยังมี โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เพิ่มพูนศักยภาพในทักษะใหม่ โดยการจ้างงานเร่งด่วนค่าจ้างวันละ 300 บาท ไม่เกิน 10 วัน เช่น งานทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ในกทม. เพื่อป้องกันโควิด-19 และกิจกรรมฝึกอาชีพ มีสนับสนุนค่าอาหารแบบเหมาจ่ายมื้อละ 80 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 30.89 ล้านบาท เป้าหมาย 7,740 คน

“รวมถึง กรมการจัดหางาน สนับสนุนการ ฝึกอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่กลับภูมิลำเนา สามารถประกอบอาชีพอิสระ เช่น การปลูกผักไฮไดรโปนิกส์ การตัดเย็บเสื้อผ้า การขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยผ่านโครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ เป้าหมายจำนวน 2,000 คน ซึ่งในช่วง Social Distancing อาจจะใช้พื้นที่บริเวณวัด นั่งห่างๆ กันเพื่อฝึกอาชีพ เมื่อฝึกจบจะได้รับมอบเครื่องมือทำกิน ด้าน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายการฝึก 7,800 คน (390 รุ่น) ทั่วประเทศ ระยะเวลาฝึก 15 วัน/รุ่น (90 ชม.) งบประมาณ 33,150,000 บาท ซึ่งระหว่างการฝึกจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,800 คน ซึ่งหากไม่พอ สามารถของบเพิ่มได้ เพราะรัฐบาลเปิดโอกาสให้ ขณะนี้กำลังสำรวจแต่ละจังหวัดว่าจะมีการเปิดฝึกอาชีพอะไรบ้าง ซึ่งสามารถทำได้เลย โดยแรงงานนอกระบบ จะเน้นกลุ่มที่กลับบ้านจากกรุงเทพฯ เป็นหลัก” นางเธียรรัตน์ กล่าว

158515813974   

  • สนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ

ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบายว่า ในส่วนของสถานประกอบการ สำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการ อยู่ระหว่างประสานธนาคารเพื่อตกลงในรายละเอียด คาดว่าจะลงนามข้อตกลงกับธนาคารได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานได้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเราพร้อมจะดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ

  • ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าว

ในส่วนแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ได้มีการ “ผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว” ที่การอนุญาตสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ใช้บัญชีรายชื่อ (Name List) ที่กรมการจัดหางานออกให้พร้อมใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นใบอนุญาตทำงานไปก่อน ยกเว้นค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay) ขยายใบรับรองแพทย์ให้มีอายุ 90 วัน โดยปัจจุบัน การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ปัจจุบัน มีการดำเนินการอยู่ 7 ศูนย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 38 ศูนย์ในส่วนภูมิภาค

เชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) มีการปรับรูปแบบ แต่ยังคงให้บริการในส่วนของการจัดหางาน และยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ได้ในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งตอนนี้มีคนยื่นมาเกือบครบ 100% แล้ว ส่วนการดำเนินการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง และกทม. จะไปดำเนินการในที่ตั้งของตนเอง ซึ่งจะดำเนินการในวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

  • นอกระบบรับเงิน 5 พัน 3 เดือน

ทั้งนี้ ในส่วนของ “กระทรวงการคลัง” ได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยเยียวยาให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทน และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)

โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน 2563 จะดำเนินการผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และรับโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเดือน สามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 โดยข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบริษัทนายจ้าง ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และ ข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์หรือบัญชีธนาคาร สามารถรับเงินจำนวน 5,000 บาท 5 วันหลังจากลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ โดยการจ่ายเงินจะโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถยื่นคำขอรับเงินทดแทน 5,000 บาท จากกระทรวงการคลัง ได้เช่นเดียวกัน รวมถึงมาตรา 33 ที่ยังไม่มีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน ก็สามารถรับเงินเยียวยากับกระทรวงการคลังได้ เรื่องนี้เราดูแลครบทั้งระบบประกันสังคม

  • ธุรกิจร้านอาหารยอดลด 50% 

นุสรา บินมายิด อายุ 53 ปี เจ้าของร้านอาหารคานาอัน สุขุมวิท 101/1 เล่าว่า หลังจากที่กทม. ประกาศปิดสถานบริการ แม้ร้านจะยังเปิดให้บริการได้แต่ยอดขายก็ลดลงถึง 50% เนื่องจากเมื่อก่อนลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ ซึ่งขณะนี้ให้ Work From Home กัน จึงต้องหันมาขายผ่านระบบเดลิเวอร์ลี่ และให้ห่อกลับบ้านแทน

158515813439

“ในร้านมีลูกน้อง 4 คน ซึ่งที่ผ่านมาเราออกค่าที่พักให้ 50% อยู่แล้ว พอมีเหตุการ์โควิด -19 เราจึงปรับนโยบายคือการปรับลดค่าแรงพนักงานลง 30% จากวันละ 400 บาท เหลือวันละ 300 บาท กินข้าวที่ร้านได้ และพนักงานในร้านก็ตกลงตามนั้น ต้องพยุงลูกน้องไป เพราะหากเขาไม่มีค่าแรงเขาไม่สามารถอยู่ได้ เพราะถ้าจะให้หยุดไปเลยก็เป็นไปไม่ได้ แต่ละคนมีค่าใช้จ่าย เขามีลูก ต้องกิน ต้องใช้ ลำพังแค่เราปิดร้านเราอยู่ได้ แต่ลูกน้องมีผลกระทบ เดือดร้อนแน่นอน เพราะพวกเขาหาเช้ากินค่ำ”

158515813995

สำหรับมาตรการการในการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ จะให้ลูกทั้ง 2 คน เป็นคนรับออเดอร์ Get กับ Line Man รวมถึงฟังข่าว โดยจะมีทางเขตมาตรวจ ซึ่งเราก็ให้ความร่วมมือในการทำตามมาตรการทุกอย่างที่ออกมา ให้คนรับส่งอาหาร รอออเดอร์ห่างจากหน้าร้าน 1-2 เมตร มีแอลกอลฮอล์ล้างมือ และให้บริการห่อใส่ถุงกลับบ้านเท่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้าเดลิเวอร์รี่ก็พอขายได้ รวมถึงอาศัยชุมชนรอบข้าง แต่ก็ถือว่ารายได้ลดลงกว่า 50% เพราะปกติจะขายได้วันละร้อยกว่าจาน ต้องเตรียมของลดลง 50% อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้จ่าย เพื่อประคองเด็กและร้านไปให้ได้ นอกจากนี้ ต้องมีการประเมินผลแต่ละอาทิตย์ว่าจะทำอย่างไรต่อ

158515813767

“อยากจะให้กำลังใจสำหรับคนทำธุรกิจในช่วงนี้ เพราะเราผ่านวิกฤตไข้หวัดนกมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นโดนยึดบ้าน เพราะเป็นช่วงต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก และมาเจอไข้หวัดนก แม้ครั้งนี้จะร้ายแรง แต่เราต้องพัฒนาตัวเอง เราเอาประสบการณ์สอนลูกสอนหลานว่าอย่าสร้างหนี้ ทำอะไรให้กระชับที่สุด เพราะมันก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน" 

158515814099

นอกจากนี้ ยังเตรียมเมนูสู้ไปด้วยกัน ราคาพิเศษ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ราคาเดียว 29 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขายได้ในวันจันทร์หน้า ประกอบด้วยเมนู กระเพราหมูไข่เจียว ไก่กระเทียมไข่เจียว และหมูผัดพริกแกงไข่ต้ม วัตถุดิบเหล่านี้ ไม่ได้แพง ขายให้คนที่รายได้น้อย อย่างน้อยมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็คซี่ พนักงานที่ได้เงินรายวัน ที่ได้ผลกระทบ ก็ได้ทาน” นุสรา กล่าวทิ้งท้าย