รู้หลักดูแลสูงวัย ลดเสี่ยง พิชิตโควิด-19
"แพทย์" แนะหลักการดูแลผู้สูงอายุอยู่บ้านช่วงโควิด-19 ยึดหลัก 5 อ ออกกำลังกาย อาหาร เอนกายพักผ่อน อารมณ์ และออกห่างสังคม ฝากจัดระบบคนวงใน-วงนอกป้องกันการติดเชื้อ ย้ำดูแลเด็ก หวั่นเป็นผู้แพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุ
แม้กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด -19 จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน แต่สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด -19 นั้น จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่กลุ่มคนวัยทำงานเป็นผู้นำเชื้อมาสู่ผู้สูงอายุ
สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเสวนาพิเศษ “ไทยรู้ สู้โควิด” ในประเด็น “การดูแลสุขภาพขณะอยู่บ้านของผู้สูงอายุ”
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ฯ กล่าวว่าคนหนุ่มสาว หรือคนวัยทำงานจะมีพลังสำรองค่อนข้างมาก เมื่อเวลาเจ็บป่วย หรือมีการติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ กลุ่มหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานที่มีพลังสำรอง50 มีพลังใช้จริง 50 จาก 100 เมื่อติดเชื้อโควิด-19 อาจจะไปทำลายพลัง 20-30 ก็ยังมีพลังสำรองเหลือและมีพลังใช้จริง
แต่สำหรับผู้สูงอายุไม่ได้มีพลังสำรอง เพราะบางคนอาจจะไม่มีพลังสำรองเลย ทำให้ไม่สามารถทนต่อการติดเชื้อได้มาก อีกทั้งคนสูงอายุ ภูมิคุ้มกันจะต่ำ และมีโรคประจำตัวเยอะ เช่น บางคนมีโรคไต เบาหวาน หัวใจ ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ป่วยง่าย เสียชีวิตได้ง่าย
“สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ คนสูงอายุส่วนใหญ่ไม่ได้ออกจากบ้านมาก แต่คนที่จะทำให้คนสูงอายุติดเชื้อโควิด-19 คือ คนที่ทำงานนอกบ้าน หรือคนวัยทำงาน ลูกหลาน ดังนั้น กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มมาจากพื้นที่เสี่ยงขอห้ามเข้าใกล้ผู้สูงอายุ อย่างคนที่กลับจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล กลับไปภูมิลำเนาของตนเอง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำ กักตัวเอง 14 วัน อย่าไปสัมผัสผู้สูงอายุ และต้องมีระยะห่างทางสังคม 2 เมตร หากจำเป็นต้องเข้าไปใกล้ต้องใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย”นพ.สกานต์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่เป็นกลุ่มคนสูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกหลานต้องคอยช่วยเหลือ ทำให้ไม่สามารถห่างได้ 2 เมตรนั้น ควรเลือกผู้ดูแลคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดและคนๆ นี้ต้องพยายามเก็บตัวอยู่บ้านกับผู้สูงอายุ เรียกว่าเป็นคนวงใน ขณะเดียวกันก็ต้องมีคนวงนอก คอยไปซื้อข้าวของ ซึ่งคนวงนอกนี้ต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร
นพ.สกานต์ กล่าวต่อว่าด้วยไม่สามารถคาดการณ์การแพร่ระบาดได้ว่าจะมีความยาวนานอย่างไร ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนๆเดียว ที่ดูแลใกล้ชิดตลอด โดยคนวงในและคนวงนอกต้องสลับกัน เช่น อาทิตย์นี้เป็นคนวงในคอยดูแล อาทิตย์ถัดไปอาจจะเป็นคนวงนอกมาดูแล เพื่อไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่คนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป แต่ทั้งนี้ ก่อนจะสลับการดูแลนั้น ต้องมีการตรวจเช็คแล้วว่าไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ใดๆ ทุกคนต้องช่วยกัน
“หลักคิดในการดูแลผู้สูงอายุผู้สูงอายุ ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุแต่ละท่านมีข้อจำกัดทางร่างกาย และสมองไม่เหมือนกัน ฉะนั้น หลักในการดูแลผู้สูงอายุต้องสังเกต ประเมินร่างกาย และสมองของผู้สูงอายุว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ผู้สูงอายุบางท่านเป็นคนแอคทีฟ ทำกิจกรรมหลายอย่าง การจะให้มาแกว่งแขนอย่างเดียวก็อาจจะทำให้เบื่อ ต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุนั้นๆ และต้องเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุอยากทำ ไม่ใช่กิจกรรมที่ลูกหลานอยากทำ หรืออยากให้ทำ” นพ.สกานต์ กล่าว
นอกจากร่างกายแล้ว “สมอง” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องดูแล นพ.สกานต์ กล่าวต่อว่าผู้สูงอายุบางท่านสมองอาจจำไม่ได้ ต้องเลือกกิจกรรมที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมตามสภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ แต่ต้องเป็นการทำกิจกรรมที่สามารถทำให้เกิดการช่วยตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่ช่วยได้
ตอนนี้สิ่งที่แพทย์กลัว คือ การกักตัวอยู่บ้านหลายเดือนของผู้สูงอายุ อาจจะเปลี่ยนจากผู้สูงอายุที่แอคทีฟ ทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน และถ้าไม่มีกิจกรรมอะไรเลย พอโควิด-19 จากไป อาจจะได้ผู้สูงอายุติดเตียงมากขึ้น คนในครอบครัวต้องมีกิจกรรมกระตุ้นสมอง กระตุ้นร่างกาย
ทุกกิจกรรมต้องเหมาะสม เป็นไปตามความชอบ และต้องทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข สนุกที่จะได้ทำ ไม่ใช่กังวล หรือทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด
นพ.สกานต์ กล่าวอีกว่าอยากให้ทุกคนยึดหลัก 5 อ ในการดูแลผู้สูงอายุ คือ ออกกำลังกาย ต้องดูสภาพร่างกายและสมอง พยายามทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสนใจ ชอบทำ, อาหาร โดยต้องทานให้ครบ 5 หมู่ และต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องฟันของผู้สูงอายุร่วมด้วย เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องฟัน เหงือก อยากให้ยึดแนวปฎิบัติ 2 2 2 ได้แก่ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง แปรงครั้งละ 2 นาที เพื่อให้ฟลูออไรด์ ทำให้ฟันแข็งแรง และไม่ทานอาหารหลังจากแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ,เอนกายพักผ่อน ต้องให้ผู้สูงอายุนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ,อารมณ์ ให้ผู้สูงอายุทำอะไรก็ได้ที่ทำให้มีความสุข และอย่าหมกมุ่นกับโควิด-19 มากเกินไป อย่าเสพข่าวตลอดเวลา และออกห่างจากสังคม ต้องมีระยะห่างจากสังคม
“อยากฝากประเด็นที่หลายคนอาจมองข้าม คือ นอกจากป้องกันผู้สูงอายุแล้ว ควรป้องกันเด็กไม่ให้ติดโควิด -19 ด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่ในบ้านมักจะมีเด็กอยู่กับผู้สูงอายุ ซึ่งเด็กอาจจะไม่ระวังตัวเอง ขณะที่ผู้สูงอายุ ก็มักจะเอ็นดูเด็กเป็นพิเศษ ดังนั้น ต้องป้องกันเด็กด้วย โดยต้องป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อ เพื่อให้เด็กจะได้ไม่เป็นผู้แพร่เชื้อโควิด -19 ไปสู่ผู้สูงอายุ และผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ อาจจะมีภาระงานและต้องดูแลผู้สูงอายุร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการต่างๆ เพื่อลดติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ดีเท่ากับทุกคนระมัดระวัง ดูแลปฎิบัติตัวเองอย่างดี ทุกคนต้องช่วยกันในการดูแลทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง”นพ.สกานต์ กล่าว