หยุดโควิด-19 กับภาระกิจอสม.
อสม. ซึ่งมีทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยดูแลสุขภาพให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด การสร้างความเข้าใจและช่วยสอดส่อง ดูแลคนในชุมชน ถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มีบทบาทหลักคือการช่วยดูแลสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ ดั่งคำขวัญที่ว่า “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข” เนื่องจากพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก อสม. ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะคอยส่งข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐลงไปในพื้นที่ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือน มีหน้าที่คอยให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาโรคง่ายๆ ช่วยงาน รพ.สต. ดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่บ้าน ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค
“อสม. ถือเป็นกำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็งมีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานที่ลงไปสู่ชาวบ้าน และการส่งเสริมป้องกันโรคต่างๆ เนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ พ.ศ. 2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการประกวด อสม. ดีเด่นขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ์ให้กับอาสาสมัครที่ทุ่มเทช่วยงานด้านสาธารณสุขให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งการประกวดจะมีตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จังหวัด จนถึงระดับประเทศ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติจะได้รับการเชิดชูเกียรติ์และได้รับการเสนอให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย”
นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีอายุการทำงานครบ 10 ปี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะปฏิรูปและพัฒนาเรื่องของทิศทางองค์ความรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร การเสริมสมรรถนะ และเรื่องคุณสมบัติ โดยมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ อสม. ที่ชราภาพแต่มีองค์ความรู้ปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงานไปเป็นผู้ให้ความรู้กับ อสม. รุ่นใหม่ แทนการลงปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชน ส่วนเรื่องกฎหมาย สบส. มีแนวคิดที่จะร่าง พรบ. ให้มีกองทุนสำหรับอสม. ใช้ในการปฏิบัติงานด้วย
- อสม.กับภารกิจช่วยชาติต้านโควิด
นางจรวย ล่องหลง วัย 58 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนบ้านหน้าคราม ต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร ซึ่งได้รับตำแหน่ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ระดับชาติ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2563 จังหวัดชุมพร เล่าว่า ภูมิลำเนาเดิมเป็นคน จ.สงขลา มีอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หลังจากที่ย้ายตามสามีมาอยู่ที่ จ.ชุมพร เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ช่วงนั้นไข้เลือดออกระบาดและลูกชายก็ป่วยหนักแต่โชคดีที่คุณหมอช่วยไว้ได้ ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นโรคที่น่ากลัว แต่เราไม่มีความรู้ เราเป็นชาวบ้าน เราจะทำอย่างไร ให้สามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้ในระดับหนึ่ง
“หลังจากนั้นเห็นในหมู่บ้านมาประชุมอสม. ตอนนั้นมีอยู่ประมาณ 20 คน จึงศึกษาว่า อสม. คือใคร ทำอะไร ต้องมีความรู้อย่างไร และรู้ว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาแบบเรา เราก็คงทำได้เพราะอ่านออกเขียนได้จึงตัดสินใจไปสมัครอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองน้อย จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 18 ปี นอกจากเป็น อสม. แล้ว ยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และดูแลเรื่องกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน รวมถึงทำสวนทุเรียนและขายของในสหกรณ์หมู่บ้าน”
- ประชุมอสม.ป้องกันโควิด
นางจรวย เล่าต่อไปว่า ปัจจุบันภายในหมู่บ้านมีอยู่ราว 180 หลังคาเรือน มี อสม. จำนวน 22 คน แบ่งกันดูแลเฉลี่ยคนละ 9 หลังคาเรือน ในสถานการณ์โรคโควิด-10 ระบาด ทางอสม. ต้องมีการประชุมในหมู่บ้าน ว่าหากพบผู้ป่วยจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้เราต้องกระตือรือร้นกว่าเดิมเพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้องคอยสอดส่องดูแลอย่างเข้มแข็งเพื่อไม่ให้รอดสายตา ปัจจุบัน มีคนที่กลับมาจากต่างจังหวัดในหมู่บ้านราว 10 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนปิดเทอม จาก จ.จันทบุรี จ.นนทบุรี จ.เพชบุรี และ จ.นครปฐม ทั้งนี้ ทุกคนที่มาต้องลงทะเบียนเพื่อส่งข้อมูลไปที่อำเภอ และเก็บไว้ในหมู่บ้าน รวมถึงแจ้งไปยัง รพสต. ใกล้บ้าน
นอกจากนี้ ยังประกาศในวันประชุมหมู่บ้านให้ทุกครัวเรือน ที่มีคนเดินทางเข้าออก ต้องแจ้งอสม. หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคนในชุมชนต้องช่วยกันติดตามอาการคนในครอบครัวตัวเอง รวมถึงช่วยกันสอดส่องคนที่มาอยู่ใหม่ ติดตามข่าวสารทุกช่องทางเพื่ออัพเดทสถานการณ์ ทั้งนี้ คนที่เดินทางกลับมาภูมิลำเนา ต้องให้ความร่วมมือ กักตัว 14 วัน และแยกตัวจากคนในครอบครัว ใส่หน้ากากอนามัย โดยจะมีการโทรไปสอบถามอาการ รวมถึงถามข่าวจากคนใกล้บ้าน ซึ่งทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“คนที่กลับมาบ้าน เขาก็เข้าใจ และก็ตระหนัก เขาจะรายงานตัว ว่าเขามาจากไหน แม้จะไม่มีไข้ ไม่แสดงอาการ ก็ต้องกักตัวเอง 14 วัน ถ้าไม่จำเป็นไม่คลุกคลีกับผู้อื่น ให้อยู่บ้านของตัวเอง นอกจากนี้ ทีม อสม. ยังได้ช่วยกันเย็บหน้ากากผ้าแจกชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดัน จะเป็นกลุ่มที่แจกให้ก่อน นอกจากนี้ ยังเน้นว่าให้ล้างบ่อยๆ ไม่จำเป็นอย่าออกไปไหน ให้อยู่บ้าน หากต้องการซื้อของ ให้ออกไปคนเดียวก็พอ”
“รู้สึกภูมิใจ ที่ อสม. เป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันโรคโควิด-19 เพราะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีแค่คนเดียว แต่ทุกหมู่บ้านจะต้องมี อสม. ทุกหย่อมหญ้า อยู่ทุกหลังคาเรือน” นางจรวย กล่าว
- สร้างความเข้าใจลดตระหนก
ด้าน นายสุพงศ์ โชติพันธุ์ วัย 63 ปี ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา สํานักอนามัย กทม. และ ประธานกรรมการชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วนที่ 1 ถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 แขวงแสมดํา เขตบางขุนเทียน ซึ่งได้รับรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ระดับชาติ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชนในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในชุมชนมีบ้านเรือน 502 หลังคาเรือน มีผู้สูงอายุราว 300 คน และผู้พิการที่สามารถช่วยตัวเองได้ราว 8 คน ในชุมชนมี อสส. จำนวน 7 คน และแคร์กิฟเวอร์ 3 คน หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานชุมชนปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการสร้างหอกระจายข่าว สำหรับการแจ้งข้อมูลข่าวสารภายในหมู่บ้าน
ทั้งนี้ หลังจากที่มีสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ชาวบ้านในชุมชนตื่นตระหนกตกใจค่อนข้างมาก ทั้งจากที่มีเคสสนามมวย หรือข่าวปลอมต่างๆ ที่ส่งมาทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ตนในฐานะ อสส. จึงพยายามสร้างขวัญกำลังใจ โดยพยายามค้นหาข้อเท็จจริงของข่าวที่คนในชุมชนกังวล และใช้หอกระจายข่าวในการให้ความรู้ โดยการรวบรวมเพลงให้ความรู้โควิด-19 จากที่ต่างๆ ความยาวทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง และความรู้จากคุณหมอ เปิดที่หอกระจายข่าวในชุมชน เพื่อเป็นการให้ความรู้ ลดความตื่นตระหนก ให้ประชาชนหันมาป้องกัน ดูแลตัวเอง โดยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ และเป็น อสส. เช่นกัน เย็บหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนด้วย
- ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ
นายสุพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในชุมชนจะเน้นการให้ความรู้และการทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากยังไม่มีกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือต่างถิ่นเข้ามา มีเพียงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับประเทศไป ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญว่า หากคนในชุมชนเดินทางด้วยรถประจำทางสาธารณะอย่างระมัดระวัง ล่าสุด ได้ประสานโรงเรียนอนุบาลและคริสตจักร เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 และภายในลานกีฬาของชุมชนสนามบาสเก็ตบอล สนามเปตอง สนามแบดบินตัน สนามฟุตซอลสนามใหญ่หนึ่งสนาม สนามฟุตซอลสนามสําหรับเด็กอีกสองสนาม และพื้นที่สาธารณะของชุมชนทั้งหมด กับศูนย์ปฎิบัติการจราจร สถานีตํารวจนครบาลท่าข้าม (ด้านหน้าชุมชนฯ) และได้พ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 บริเวณชุมชนฯ ครบ 13 ซอยรวมบ้านพักอาศัย 502 หลังคาเรือน (พื้นที่50ไร่) เพื่อการป้องการแพร่ระบาดเขื้อไวรัสโควิด-19 โดยจัดซื้ออุปกรณ์ฉีดล้างเครื่องเล็กๆ 2-3 พันบาท รองเท้าบูท ทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อตามที่ กทม. แนะนำ
“สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในชุมชน ในฐานะ อสส. เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกัน หากเราไม่ร่วมด้วยช่วยกันก็ไม่มีใครมาทำให้เรา เบื้องต้นอันดับแรกทุกคนต้องทำความเข้าใจกันในครอบครัว และให้เชื่อถือข้อมูลที่ยืนยันทางการแพทย์เท่านั้น หากสงสัยให้โทรสอบถามที่กรมควบคุมโรค 1422 หน่วยงานชุมชน และ อสส. ต้องทำงานร่วมกัน ประชาสัมพันธ์ และนำไปสู่การปฏิบัติ ในสถานการ์แบบนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ต้องดูแลตัวเอง ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ต้องนึกถึงว่าหากเราติดขึ้นมา จะส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร” ” นายสุพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย