'การเว้นระยะห่างทางกายภาพ' ดีกว่า 'การเว้นระยะห่างทางสังคม' อย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญต่างชื่นชมที่องค์การอนามัยโลกหันมาใช้คำว่า ”การเว้นระยะห่างทางกายภาพ” (physical distancing) แทน โดยกล่าวว่า “การเว้นระยะห่างทางสังคม” หรือการโดดเดี่ยวตัวเอง ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพใจ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เริ่มที่จะใช้คำว่า “การเว้นระยะห่างทางกายภาพ” แทนคำว่า “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ซึ่งเป็นแนวทางใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 จากคนสู่คน, การขยับตัวที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้เชี่ยวชาญว่า กำลังก้าวมาถูกทางแล้ว
โดยในการแถลงข่าววันที่ 20 มีนาคม เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกได้บอกว่า ในขณะที่การรักษาระยะห่างระหว่างกัน (ทางกายภาพ) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในภาวะที่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกนี้ มันไม่ได้แปลว่าเราต้องตัดขาดหรือเลิกปะทะสังสรรค์ทางสังคมกับครอบครัวหรือคนที่เรารัก
การระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งถูกพบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเป็นครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องดำเนินมาตรการปิดเมือง ปิดสนามบิน รวมถึงจำกัดการเดินทางและความเคลื่อนไหวต่างๆของประชาชน
“เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าไปอย่างมากจนเราไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกันถึงขนาดต้องอยู่ในห้องหรือในที่เดียวกันกับคนอื่นๆ” เจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยาของ WHO กล่าว
“ที่นี่เราพยายามเปลี่ยนคำที่ใช้สำหรับ ระยะห่างทางกายภาพ ดังกล่าว ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของเรา เพราะเราต้องการให้ผู้คนยังคงเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันเหมือนเดิม”
เนื่องจากไวรัสโคโรนา 2019 แพร่กระจายผ่านละอองฝอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไอหรือจาม การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่ถูกแนะนำให้ทำตามเพื่อช่วยลดการติดต่อเชื้อระหว่างกัน
WHO แนะนำให้ประชาชนทั่วไปอยู่ห่างกันหนึ่งเมตรขึ้นไป ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแนะนำว่า ควรรักษาระยะห่างอย่างน้อยสองเมตรขึ้นไป
นั่นหมายถึงการอยู่บ้านให้มากขึ้น การทำงานอยู่กับบ้าน การอัพเดทความเป็นไปของกันและกันผ่านทางออนไลน์มากกว่าที่จะพบปะพูดคุยกันโดยตรง การจำกัดคนที่จะมาเยี่ยมบ้าน การหลีกเลี่ยงที่ที่มีคนเยอะๆ หรือการอยู่ห่างๆจากคนอื่นในที่สาธารณะ
“คำว่า 'การเว้นระยะห่างทางสังคม' มันฟังดูเหมือนกับการหยุดติดต่อสื่อสารกันไปเลย ในขณะที่ในช่วงเวลานี้เรายิ่งควรพูดคุยติดต่อกันไว้ในระหว่างที่ต้องห่างกัน” ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด เจเรมี ฟรีเซ่ บอกกับอัลจาซีร่า
“เราจำเป็นที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันเพื่อช่วยดูแลสุขภาพกายของคนอื่น แต่เรื่องสุขภาพใจก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และการโดดเดี่ยวทางสัมคม ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพใจเลย” ศจ.เจเรมีกล่าว
มาร์ติน บูเออร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอนแสดงความชื่นชมกับการเปลี่ยนการใช้คำศัพท์นี้ของ WHO โดยเขากล่าวว่า ใช้มาซะนานเลย (น่าจะเปลี่ยนตั้งนานแล้ว)
“ผมรู้สึกอยู่นานแล้วตั้งแต่แรกว่า คำนี้ (social distancing)ไม่น่าจะใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่ที่เราจะใช้กับ 'การรักษาระยะห่างระหว่างกัน' ซึ่งเราต้องการหมายถึง การเว้นระยะให้ห่างกันทางกายภาพ” ศาสตราจารย์บูเออร์กล่าว
“ระยะห่างทางกายภาพสามารถวัดได้เป็นเมตรหรือเซนติเมตร มันเป็นระยะห่างในเชิงภูมิศาสตร์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. ในขณะที่ 'การเว้นระยะห่างทางสังคม' จริงๆเป็นเรื่องของระยะทางสังคมที่มีขอบเขตระหว่างกัน”
บูเอร์กล่าวว่า มันเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องแยกความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ให้ออก
“เป็นเรื่องที่ดีที่ WHO แก้ไขคำให้มันถูกต้องจากสิ่งที่เราต้องการจริงๆคือ 'การเว้นระยะห่างทางกายภาพ'
“ในช่วงเวลาที่แสนประหลาดเพราะไวรัสตัวนี้ เราต้องการความชัดเจนของการที่จะต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพ อย่างน้อยก็สองเมตร แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการให้ผู้คนยังสังคมกันเหมือนเดิม” ศาสตราจารย์บูเออร์กล่าว
ภาพกราฟฟิค แสดงการรักษาระยะห่างระหว่างกัน/ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย