เศรษฐกิจและสังคมโลกหลัง Covid-19
มองโลกหลังยุคโควิด-19 ในวันที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หายไปจากโลก ในวันนั้นเศรษฐกิจและสังคมโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เราจะต้องปรับวิถีชีวิตหรือไม่ นโยบายรัฐและการเงินทั่วโลกจะต้องเปลี่ยนไปในแนวทางใด
หลังจากผู้เขียนได้รับคำถามมากมาย ทั้งจากผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งสื่อมวลชน ถึงภาพของเศรษฐกิจและสังคมโลกในอนาคต หลังจาก Covid-19 ได้ลุกลามไปทั่วโลกและส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต ทำให้ทางการทั่วโลกต้องใช้มาตรการ Social distancing เพื่อซื้อเวลาให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการคิดค้นวัคซีนและ/หรือยารักษาโรคร้าย
มาตรการดังกล่าวนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ทางการทั่วโลกจึงได้ประกาศว่าจะทำมาตรการการคลังเข้าช่วยทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีเม็ดเงินรวมไม่ต่ำกว่า 3.3% ของ GDP โลก โดยรูปแบบมีตั้งแต่การแจกเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ ให้สินเชื่อฉุกเฉิน ให้สวัสดิการว่างงาน ค้ำประกันสินเชื่อ (หลายประเทศสูงถึง 15% ของ GDP) เลื่อนการจ่ายภาษี เป็นต้น
ในส่วนของภาคการเงิน ธนาคารกลางต่างๆ ก็เข้าลดดอกเบี้ยมากกว่า 0.5% ทั่วโลกและอัดฉีดสภาพคล่องเต็มที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาความตึงตัวด้านการเงิน โดยหลายแห่งได้กลับมาทำ QE อีกครั้ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อัดฉีดอย่างไม่จำกัด และยูโรโซนที่ทำ QE โดยยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าซื้อ ทำให้ธนาคารกลาง (ECB) สามารถเข้าซื้อพันธบัตรเกิน 30% ของปริมาณที่ออกในแต่ละประเทศได้
คำถามที่สำคัญคือ มาตรการเหล่านี้จะช่วยดึงเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นได้หรือ และผลกระทบระยะยาวจากมาตรการขนาดมหาศาลทั่วโลกคืออะไร
คำถามแรก ตอบได้โดยง่ายคือไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ เพียงแค่เป็นการประคับประคองผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการทำ Social distancing เท่านั้น เพราะหากคิดอย่างง่ายคือการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น ยิ่งรุนแรงเท่าใดก็จะทำให้รายได้จากการผลิตและบริการหายไปเท่านั้น
ถึงแม้ว่ามาตรการต่างๆ จะเป็นการประคับประคอง ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้น แต่ก็จำเป็นต้องทำและต้องทำอย่างรุนแรง เพื่อให้ยังกิจการที่ถูกปิดไปสามารถเริ่มกลับมาทำได้ใหม่เมื่อโรคร้ายยุติลง เพราะหากไม่มีเงินช่วยเหลือ กิจการเหล่านั้นก็อาจกลับมาได้ลำบาก ทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นรุนแรงและยาวนานยิ่งขึ้นแม้ว่าโรคร้ายหายไปแล้ว
สำหรับคำถามที่ 2 ที่ว่าผลกระทบระยะยาวจากโรค Covid-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกนั้น ผู้เขียนมองว่ามี 5 ประการด้วยกันคือ
1.การขาดดุลการคลังทั่วโลก รวมถึงหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมาก โดยจากงานวิจัยล่าสุดของ UBS พบว่าการขาดดุลการคลังทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 2.5% ของ GDP จากที่ขาดดุลประมาณ 0.5% ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงแฮมเบอร์เกอร์ที่ขาดดุล 1.5% GDP เนื่องจากมาตรการการคลังที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมนำมาซึ่งการขาดดุลเพิ่มขึ้น
งบประมาณรัฐที่ขาดดุล ย่อมนำมาซึ่งหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาก โดยผู้เขียนมองว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในระดับ 10% ของ GDP ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีเพื่อชดเชยการขาดดุลได้มากนัก และไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จะใช้วิธีกู้ยืมมากขึ้น
แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ภาครัฐจะเร่งเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราภาษีจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ส่วนการใช้จ่าย ภาครัฐก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งรายจ่ายด้านดอกเบี้ยและด้านสวัสดิการประชาชน ซึ่งจะทำให้ขนาดของภาครัฐใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง ที่ขนาดของภาครัฐของประเทศพัฒนาแล้วใหญ่ขึ้น 10-15% ของ GDP หลังสงคราม
2.ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจจะลดลง เพราะการที่ภาครัฐเข้าอุ้มโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เกิด Creative destruction หรือการทำลายอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นกระบวนการธุรกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จต้องล้มหายตายจากไป ทำให้ทรัพยากรจะหันไปหาภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
โดยปกติแล้ว ในปีหนึ่งๆ ธุรกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) จะล้มละลายกว่า 8% ในแต่ละปี และแรงงานจะถูกเลิกจ้างกว่า 10% แต่ในปัจจุบัน การที่ภาครัฐเข้าช่วยอุ้มธุรกิจผ่านมาตรการเยียวยาผลกระทบต่างๆ จะทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่รอด แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านสั้นและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือภาครัฐก็จะล้มไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด Zombie companies หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันมากนัก หรืออยู่ในธุรกิจที่อิ่มตัวและกำลังจะตกต่ำ (Sunset industry) แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยการมีสายสัมพันธ์กับทางการ
3.ดอกเบี้ยจะต่ำยาว และการถอนการอัดฉีดสภาพคล่องจะยิ่งทำได้ยากขึ้น โดยในปัจจุบัน การที่ธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะ Fed ทำ QE อย่างไม่จำกัดนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเข้าสนับสนุนการขาดดุลการคลังของรัฐบาลที่มากขึ้น (Monetize fiscal deficit) ทางอ้อม ส่วนในฝั่งของยุโรปนั้น การที่ ECB ยกเลิกข้อจำกัดในการทำ QE โดยไม่จำกัดสัดส่วนการเข้าลงทุนในพันธบัตรประเทศเล็กๆ ก็จะเป็นการเข้าช่วยสนับสนุนการขาดดุลงบประมาณของประเทศขนาดเล็กที่ประสบปัญหานั่นเอง
4.บทบาทของภาครัฐจะใหญ่ขึ้น ทั้งการเข้ามาเป็นผู้เล่นในภาคธุรกิจต่างๆ ผ่านการทำ Nationalization (ยึดกิจการมาเป็นของรัฐ) รวมถึงการกำกับและสอดส่องกิจการรวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนจะมากขึ้น (หรือบทบาท Big brother) ผ่านการใช้ระบบ Electronic Surveillance เช่น ประวัติด้านภาษี ประวัติทางการแพทย์ (Medical Record) หรือระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (Electronic Record) ผ่านข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ เช่น เดินทางไปที่ไหน ทำอะไร มีความเสี่ยงจะติดโรคหรือทำผิดกฎหมายหรือไม่ ประวัติเหล่านี้จะถูกตรวจสอบง่ายขึ้น ทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลง
และ 5.รูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ รวมถึงการผลิตจะเปลี่ยนไป การใช้เทคโนโลยีจะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ ทำให้รูปแบบการทำงานแบบ Work from home หรือจากสถานที่อื่นๆ ทำได้ง่ายขึ้น ความจำเป็นในการมี Office ขนาดใหญ่จะลดลง
ขณะที่ในฝั่งการค้า กระแสโลกาภิวัตน์จะยิ่งลดลง ทั้งจากความไม่แน่นอนในห่วงโซ่การผลิต (Supply-chain) ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่สงครามการค้าต่อเนื่องมาถึงวิกฤติ Covid-19 รวมถึงการที่แต่ละประเทศจะหันมาผลิตสินค้าที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคสำคัญ อาหาร (เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ และธัญพืช) ในประเทศมากขึ้น
ภาครัฐที่ใหญ่และเทอะทะขึ้น ภาษีที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยที่จะต่ำยาว กระแสโลกาภิวัตน์ที่ลดลง และ Big brother นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกยุคหลัง Covid-19