มทร.อีสานสร้างเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ

มทร.อีสานสร้างเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ

อาจารย์วิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน สร้างเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ส่งมอบ รพ.ขอนแก่นใช้กับผู้ป่วยโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้มีประชาชนที่ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เครื่องมือทางการแพทย์มีไม่เพียงพอกับความต้องการจึงมีความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วย ทำให้กลุ่มอาสาสมัครในจังหวัดขอนแก่น ระดมกำลังแก้ปัญหาโดยการออกแบบ สร้างชุดครอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมชุดดูดอากาศแบบความดันลบ เพื่อส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้นำไปใช้งาน

ว่าที่ร้อยเอก สุนทร อนุภาพไพบูรณ์ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น (เทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น) กล่าวว่า สำหรับชุดครอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมชุดดูดอากาศแบบความดันลบ มีแนวคิดรถต้นแบบของวชิรพยาบาล มาจากการขอความร่วมมือของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่ต้องการเครื่องมือ อุปกรณ์ให้หมอ พยาบาล ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ จึงรวมกลุ่มคณะอาจารย์จากสาขาวิชามาร่วมกันออกแบบ

สำหรับเตียงความดันลบผลิตจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในจังหวัด แต่ยังพบปัญหาเรื่องอุปกรณ์ เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ร้าน ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างปิดชั่วคราว จึงทำให้หาซื้อได้ยาก อุปกรณ์ที่ใช้จึงต้องปรับเปลี่ยนแต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งาน สำหรับอุปกรณ์มีเหล็กที่ใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ ข้อต่อ พลาสติกชนิดหนาพิเศษ ชุดกรองอากาศขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก หลอดไฟสำหรับฆ่าเชื้อไวรัส มอเตอร์ แบตเตอรี

“สำหรับการทำงานของเตียงเคลื่อนที่ความดันลบมีหลักการทำงานเมื่อนำชุดครอบวางบนเตียงผู้ป่วยแล้ว เปิดการทำงาน โดยให้ในห้องพลาสติกมีอากาศน้อยกว่าด้วยนอก อากาศเสียด้านในห้องพลาสติกจะผ่านท่อแล้วเข้ากล่องที่มีแผ่นกรองอากาศแบบหยาบ ผ่านหลอดไปฆ่าเชื้อ จากนั้นผ่านแผ่นกรองแบบละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอากาศที่ไม่มีเชื้อโรค ก่อนจะออกมานอกห้อง โดยมีแพทย์เป็นผู้ทดลองใช้งานแล้ว ขณะนี้ได้เริ่มผลิต 2 ชุด ส่งต่อให้แพทย์โรงพยาบาลขอนแก่นนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย” ว่าที่ร้อยเอกสุนทร กล่าว

สำหรับชุดครอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยพร้อมชุดดูดอากาศแบบความดันลบ เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ เช่นวัณโรค และโควิด 19 เป็นต้น ที่นำตัวผู้ป่วยจากตึกหนึ่งไปยังตึกหนึ่ง เพื่อป้องกันการระบาดไปยังผู้ใช้บริการอื่นๆระหว่างการเคลื่อนย้าย และป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเอง