ศาลปกครองกลาง ไม่รับฟ้องปมประกาศ Fit to Fly สกัดโควิด-19 สำนวนสอง
ศาลไม่รับฟ้อง "ชายไทยในไอร์แลนด์" ขอเพิกถอนประกาศกพท.การบินพลเรือน สร้างภาระ-จำกัดสิทธิ ไร้ใบรับรองแพทย์การันตีปฏิเสธขึ้นเครื่อง ชี้การควบคุมโรคในประเทศ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกคนต้องปฏิบัติช่วยสกัดโควิด-19
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.63 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ยื่นฟ้อง ขอให้เพิกถอนประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศ ที่ทำการบินมายังประเทศไทย สำนวนที่ 2
โดยคดีนี้ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คนไทยที่พำนักอยู่ประเทศไอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องคดีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีดำ 933/2563 ยื่นฟ้อง ผอ.กพท. , สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศ ที่ทำการบินมายังประเทศไทย ลงวันที่ 19 มี.ค.63 ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาที่กำหนดในข้อ 4 ให้ผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมการเดินทาง (Fit to Fly)
และข้อ 5 กำหนดว่า หากพบว่าผู้โดยสาร ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามข้อ 3 (กำหนดให้เวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวออกบัตรเพื่อขึ้นเครื่อง Check in ให้ตรวจใบรับรอบแพทย์ ที่ออกโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางซึ่งยืนยันว่ามีการตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชิ้อไวรัส COVID-19) หรือ ข้อ 4 ก็ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) อันมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพและสร้างภาระเกินสมควแก่ผู้ฟ้องในการเดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าวข้อ 4 และ 5 รวมทั้งขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว
ขณะที่ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดของข้อกำหนดหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว จะมีลักษณะเดียวกันกับข้อกำหนด ข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ซึ่งออกตามพระราชกำหนดการ (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) มาตรา 9 ที่ประกาศวันที่ 25 มี.ค.63 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป
มาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง การกระทำตาม พระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ข้อพิพาทตามคำฟ้องในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งเป็นคดีหมายเลขแดง 504/2553 โดยไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ รายละเอียดคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง ฉบับเต็มที่ คลิกดูได้ที่นี่ https://bit.ly/3dKDmGV
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลตามคําสั่งของศาลปกครองกลางในคดีนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับสำนวนแรก ที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ 709/2563 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
นางสุภา มารดาของนักศึกษาหญิงไทยในประเทศแคนาดา ยื่นฟ้อง ผอ.กพท. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีออกประกาศ กพท. เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย วันที่ 19 มี.ค.63 โดยนางสุภา ผู้ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศฯ ดังกล่าว พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวในข้อ 4 ที่กำหนดให้ผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสม การเดินทาง(Fit to fly) และข้อ 5 ที่ว่า หากพบว่าผู้โดยสาร ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา
โดยสำนวนแรก ศาลเห็นว่า บุตรของนางสุภา ผู้ฟ้อง มีกำหนดเดินทางกลับจากประเทศแคนาดา ในวันที่ 26 มี.ค.63 อันเป็นเวลาที่อยู่ในบังคับ ตามข้อกำหนดข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ที่มีผลใช้บังคับวันที่ 26 มี.ค.63 ที่กำหนดให้มีการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ยกเว้นเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีหนังสือรับรองหรือมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ อันมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกับข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศ กพท. และบุตรของผู้ฟ้องจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว การมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องจึงไม่เป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้อง ศาลจึงไม่จำต้องออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้อง อย่างไรก็ดี สำหรับคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น คู่กรณียังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง