รู้จัก 'พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ 2497' เครื่องมือสกัดเก็งกำไรสินค้าช่วงวิกฤติ
ภาวะวิกฤติที่เกิดจากระบาดของ“โควิด19” ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนนำไปสู่การกว้านซื้อและกักตุนสินค้าหลายชนิด ทั้งจากความกังวลว่าสินค้าและอาหารจะขาดแคลน ขณะที่ก็มีพ่อค้าหัวใสฉกฉวยโอกาสในกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
แม้จะมีการออกมาคาดโทษและใช้กฎหมายในการลงโทษที่ชัดเจนแต่สินค้าหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของประชาชนตั้งแต่หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล และล่าสุดคือไข่ไก่ ก็มีปัญหาขาดแคลน ทำให้ในระดับนโยบายต้องพยายามหาแนวทางและเครื่องมือในการแก้ไขเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497” โดยให้ยกเลิกมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2497 สมัยจอมพล.ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ขึ้นใหม่
สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ที่จากเดิมกำหนดว่าให้มีคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีมหาดไทยในฐานะรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.เป็นประธานสามารถแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า 8 คน ซึ่งในครั้งนี้มีการเพิ่มองค์ประกอบของกรรมการเพิ่มเป็น 11 คน
นอกจากมี “มท.1”เป็นประธานคณะกรรมการ ยังมีกรรมการประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดยมีสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสำนักงานกฤษฎีกา ระบุถึงเหตุผลในการตรา พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 เนื่องจาก"ปรากฎว่าในขณะนั้นมีพ่อค้าเป็นจำนวนมากได้ถือโอกาสกักตุนโภคภัณฑ์ เพื่อประสงคะให้สิ่งของดังกล่าวขาดแคลนในท้องตลาด ราคาสิ่งของจะได้สูงขึ้น แล้วจึงจะนำของดังกล่าวออกขาย การกระทำของพ่อค้าดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมแก่สังคมจึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการสำรวจการกักตุนเครื่องโภคภัณฑ์ และมีการบังคับให้ผู้ที่กักตุนสิ่งของดังกล่าวขายสิ่งของแก่ประชาชนได้ ทั้งนี้ โดยจัดให้มีคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ขึ้น เพื่อดำเนินการสำรวจ การบังคับให้ขาย"
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้ถือว่ามีอำนาจมากในการตรวจตราการกักตุนสินค้าทั่วราชอาณาจักรและกฎหมายกำหนดนิยามคำว่า “โภคภัณฑ์” หมายถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดและรวมไปถึงสิ่งอื่นๆที่สามารถกำหนดเพิ่มเติมในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กับพ.ร.บ.นี้ด้วย
พ.ร.บ.สำรวจกักตุนโภคภัณฑ์ยังให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ประจำท้องถิ่น” เรียกว่า”คณะกรรมการส่วนท้องที่” สำหรับท้องถิ่นที่ยกระดับเป็นเทศบาลแล้วให้คณะกรรมการส่วนท้องที่ประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกเทศมนตรีแล้วแต่รมว.จะแต่งตั้งและบุคคลอื่นไม่น้อยกว่าสี่คน สำหรับท้องถิ่นที่ยังไม่ได้ยกระดับเป็นเทศบาลคณะกรรมการส่วนท้องที่ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและบุคคลอื่นๆอีกสี่คนที่ผู้ว่าราชการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นประธาน และกำหนดให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายลักษณะอาญา
เมื่อเป็นการสมควรสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ในท้องที่ใด จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้สอบถามบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชี้แจงขัอก็จจริงเกี่ยวกับโภคกัณฑ์ซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุน และสั่ง หรืออนุมัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้บุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์
มีอำนาจในการประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุนมาแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ และห้ามยักย้ายโภคภัณฑ์ดังกล่าวจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์นั้น เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไป หรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคลใดซึ่งคณะกรรมการประสงค์จะทำการสำรวจการกักตุนเพื่อตรวจโภคภัณฑ์ ใบรับในการขายหรือแลกเปลี่ยน รายการการค้าและเอสารหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในการนี้ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือเคหสถานดังกล่าวให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควร
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าได้มีการกักตุน ขายโภคภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือคณะกรรมการตามวิธีการ ราคา และปริมาณที่คณะกรรมการกำหนด หรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ตามวิธีการ ราคา และปริมาณที่คุณะกรรมการกำหนดในกรณีที่มีการขัดขืนคำสั่งของคณะกรรมการ กับมีอำนาจกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขในการชำระเงินและในการส่งมอบโภคภัณฑ์นั้น
ในกรณีที่ไม่ปรากฎตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ปิดประกาศคำสั่งตามความในวรรคก่อนนั้นไว้ ณ สถานที่เก็บโภคภัณฑ์ หรือพาหนะที่ขนโภคภัณฑ์นั้น เมื่อล่วงพ้น 72 ชั่วโมงนับแต่วันปิดประกาศคำสั่งแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ ไม่จัดการตามคำสั่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจยึดและบังคับซื้อได้
- ผู้ใดไม่ยอมชี้แจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกักตุนสินค้า หรือฝาฝืน คำสั่งหรือประกาศของคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่กินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดขัดขวางการกระทำของคณะคมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ให้ความสะดวกมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
- ผู้ใดให้ถ้อยคำเท็จแก่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือให้ถ้อยคำเท็จในการแจ้งปริมาณหรือสถานที่เก็บโภคภัณฑ์ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 ถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเข้าสู่ระบบ “ทุนนิยม” ที่เข้มข้นขึ้นภายหลังจากที่ไทยได้มีการลงนามร่วมกันกับสหรัฐฯตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2493 ว่าจะสนับสนุนระบบทุนนิยม (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์,กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง 2475-2530) โดยในปี 2497 ยังมีกฎหมายที่สำคัญทางเศรษฐกิจออกมาหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ, พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม 2497 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกของประเทศ และ พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497 เป็นต้น
ขณะที่บริบททางสังคมการเติบโตของกลุ่มทุนพาณิชย์ที่เป็นคนจีน ได้มีการรวมตัวเป็นสมาคมเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น สมาคมผู้ค้าเพชรพลอย สมาคมพ่อค้า สมาคมพ่อค้ายาสูบ สมาคมพ่อค้ากาแฟ สมาคมพอค้าสุรา สมาคมธุรกิจโรงแรม เป็นต้น ขณะที่ประเทศอื่นๆที่มีการเข้ามาลงทุนในไทยก็เริ่มมีการตั้งหอการค้าของต้น เช่น หอการค้าอเมริกัน หอการค้าญี่ปุ่น หอการค้าเยอรมัน และหอการค้าอินเดีย เป็นต้น ในขณะที่มีการเปิดเสรีทางธุรกิจ รัฐบาในขณะนั้นก็เริ่มมีการประกาศกฎหมายสงวนอาชีพสำหรับคนไทย และควบคุมกิจการบางชนิดตามแนวทางทุนนิยโดยรัฐ รวมทั้งการออกกฎหมายให้มีการตรวจตราการกักตุนสินค้าก็เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจตราการกักตุนสินค้าได้ทั่วราชอาณาจักรด้วย
...ในการระบาดของโควิด19 เป็นอีกครั้งที่ต้องปัดฝุ่นกฎหมายฉบับนี้มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการกักตุนสินค้า ส่วนกฎหมายฉบับนี้จะใช้ได้ผลแคไหนในสภาวะปัจจุบันต้องจับตาดูผลในทางปฏิบัติอีกครั้ง