เปิดกลยุทธ์ ‘ซิลิคอน คราฟท์’ ในเส้นทางไอดอล Deep Tech

เปิดกลยุทธ์ ‘ซิลิคอน คราฟท์’ ในเส้นทางไอดอล Deep Tech

ในเรื่องการแข่งขันต้องมองถึงการดิสรัป การเข้าไปทดแทน ที่สำคัญก็คือ การต้องพยายามดิสรัปธุรกิจตัวเองก่อนที่จะมีคนอื่นมาดิสรัป

โดยเจาะลึกว่ามีโปรดักส์หรือบิสิเนสโมเดลใดที่เสี่ยง น่าจะไปไม่รอดและหาทางพัฒนาสินค้าที่ “ว้าว” กว่า คิดบิสิเนสโมเดลใหม่ขึ้นมาทดแทน และในอนาคตก็จะมีการบูรณาการมีทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีข้ามสายพันธ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย


และการจะสามารถก้าวเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆได้ จำเป็นต้องมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญและมีจุดแข็งอย่างเข้มข้นในสิ่งที่ทำ


ทั้งยังต้องมีพาร์ทเนอร์และลูกค้าที่ดี ที่สามารถสนับสนุนให้บริษัทได้ก้าวสู่ระดับเวิล์ดคลาส ดังนั้นควรต้องกำหนด เจาะจงถึงคุณสมบัติพาร์ทเนอร์ไว้ตั้งแต่เมื่อตอนเริ่มทำโรดแมพของธุรกิจ เพื่อให้พาร์ทเนอร์มาร่วมสร้างและแก้โจทย์ไปพร้อมๆกัน


ทั้งหมดนี้ “มานพ ธรรมสิริอนันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มองว่าคือแนวโน้ม คือหัวใจสำเร็จของธุรกิจออกแบบไมโครชิพที่เขากำลังทำอยู่


“ถ้าเราอยู่นิ่งๆทุกวัน นั่นหมายถึงการถอยหลัง เพราะเราคิดได้คนอื่นก็คิดได้ ดังนั้นเราต้องคิดและทำให้เร็วกว่าคนอื่นหลายสเต็ป ถ้าถามว่าเราทำได้เร็วแค่ไหน ตอนนี้เราอยู่กลางๆ แต่ก็ค่อยๆคมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราได้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยเติมเต็ม มาช่วยขับเคลื่อนบริษัทเดินไปข้างหน้าด้วยความปลอดภัยมากขึ้น”


ปัจจุบันโปรดักส์ของ ซิลิคอน คราฟท์ มีอยู่ 4 กลุ่ม หลักๆ ได้แก่ 1.ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (Immobilizer)2.ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) 3.ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และ 4.ระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator)สินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ ใช้สำหรับระบบฉลากอัจฉริยะเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า (Smart Label or Anti-counterfeiting) หรือใช้สำหรับตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ (Smart Sensor) เป็นต้น


อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือดมากกว่าในอดีตมาก และมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมองเห็นชัดว่าใครที่จะอยู่รอด ใครที่จะจากไป


"เวลานี้เกิดวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและโควิด-19 สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การบาลานซ์พอร์ตให้ดี นอกจากนี้ในช่วงหลังๆ สินค้าบางตัวก็เริ่มอิ่มตัว และมีการแข่งขันกันเยอะ เช่น Animal Tag เวลานี้คนจีนทำกันเยอะ แถมเอาของเราไปก้อบปี้แอนด์ดีเวลลอปด้วย"


วิธีการตั้งรับของเขาในเวลานี้ ก็คือการประเมินความเสี่ยง มองหากรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น (worst case scenario) มีการจำลองเคสกับทีมงานฝ่ายการเงิน ฝ่ายการขายว่าอุตสาหกรรมใดจะดนผลกระทบมากที่สุด เพื่อรีบไปอุดช่องโหว่นั้น รวมไปถึงมองหาช่องทางการขายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดต่างประเทศและแม้กระทั่งตลาดไทย


"เพราะเราเริ่มต้นด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เราดีไซน์และพัฒนาโปรดักส์ส่งขายตลาดต่างประเทศ ซึ่งสินค้า Deep Tech ของเราก็ถูกอิมพอร์ตเข้ามาอีกทีเพื่อนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อัจฉริยะที่หลากหลาย"


เขาบอกว่าที่จริง เทคโนโลยี RFID :Radio Frequency Identification ที่ซิลคอน คราฟท์พัฒนาขึ้นนั้นสามารถนำเอามาใช้ในเมืองไทยได้มากมาย เช่น ช่วยในเรื่องของการป้องกันการปลอมแปลง Anti-counterfeiting ให้กับสินค้าที่เป็นไทยแบรนด์ แน่นอนเวลานี้บริษัทจึงเร่งสร้างความตระหนัก ชักชวนผู้ประกอบการไทยมาทำความรู้จักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว ในเวลานี้เขายังให้ความสนใจกับตลาดสุขภาพ และกำลังพัฒนาโปรดักส์ด้าน Point-of-care Testing (การทดสอบ ณ จุดดูแลผู้ป่วย) ฯลฯ


"เทคโนโลยีที่เราพัฒนาจะมาดิสรัป เปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพของเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง คือให้คนไทยทุกคนทีมีมือถือ เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ จะสามารถตรวจสอบสุขภาพของตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นการวัดเบาหวาน เช็คไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น ได้ในทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปสถานพยาบาล นอกจากนี้เราจะให้นักวิจัย นักชีวเคมี ได้ใช้แพลตฟอร์มของเราใช้เพื่อคำนวนหาค่าต่างๆได้อย่างรวดเร็วเที่ยงตรงเป็นมาตรฐานที่ยอมรับ จากนี้นักวิจัยตัวเล็กๆจะสามารถคิดค้นสูตรยา ผลวิจัยต่างๆได้ไม่แพ้บริษัทยาใหญ่ๆ"


ถามถึงหลักคิดในการคิดค้นพัฒนาโปรดักส์ และหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ มานพอธิบายว่า โดยปกติเขาจะเริ่มต้นด้วยการให้ทีมนักวิเคราะห์ วิศวกรภายในบริษัทมาช่วยกันระดมสมองและมองไปในอนาคต (foresight) พิจารณาเมกะเทรนด์ต่างๆที่มีการพยากรณ์ว่าจะต้องเกิดขึ้น แล้วนำเอามาตีโจทย์ว่าซิลิคอน คราฟท์จะเข้าไปร่วมได้อย่างไร


"เราจะสุมหัวกันดูแนวโน้มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นเราจะเน้นไปพูดคุยกับลูกค้าที่แน่นอน เพื่อให้เขาได้มามีส่วนร่วมเพื่อดีไซน์สินค้าที่ตอบโจทย์ ต้องบอกว่าเราเดินแบบฝรั่ง คือเวลาจะทำอะไรก็จะไปสำรวจตลาดก่อนว่ามีความต้องการอะไร ในขณะที่เราก็ให้ความเคารพในเรื่องของสิทธิบัตร เรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย"


มานพ เคยทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลเลย์ และยังเป็นผู้คิดค้นวิธีการที่จะทำให้ไมโครชิพมีขนาดเล็กลงเพื่อสามารถทำมือถือได้ขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน กระทั่งได้รับการตีพิมพ์เผยในวารสารเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เขาคือคนไทยอีกคนหนึ่งในโครงการ “สมองไหลกลับ” ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดึงให้มาร่วมพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย และมีส่วนร่วมในการตั้งศูนย์บ่มเพาะนักออกแบบวงจรรวม


เขาบอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจกลับมาก่อตั้ง ซิลิคอน คราฟท์ ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2545 ว่าเป็นเพราะในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” และมองเห็นว่าแม้ประเทศไทยจะล้าหลังมีความทุรกันดารกว่า แต่กลับมีทรัพยากรที่ดี มีเมล็ดพันธ์ที่ดี เพียงแค่มารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยอีกหน่อยก็จะมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง


"แต่ผมมองว่าภาครัฐเองก็ต้องมีนโยบาย มีระบบนิเวศที่รองรับคนทำงานและธุรกิจเทคโนโลยีต้นน้ำแบบเรา ต้องมุ่งสร้างความเป็นชาตินิยม ให้คนไทยหันมาใช้สินค้าแบรนด์ไทย ซื้อสินค้าที่คนไทยพัฒนา เราเองอยากเป็นไอดอลของเด็กไทย ให้พวกเขาเห็นว่าการศึกษาและการทำงานในสาย Deep Tech แบบเรามีโอกาสพัฒนาโปรดักส์ที่เปลี่ยนโลก และสามารถสร้างความสำเร็จให้ชีวิตได้อย่างงดงามด้วย"