ส่อง ‘เคอร์ฟิว 24 ชม.’ ในต่างประเทศ แก้วิกฤติโควิดได้แค่ไหน?
“เคอร์ฟิว 24 ชม.” อาจช่วยควบคุมการระบาด “โควิด-19” ได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้มากพอๆ กัน หลังจากมีข่าวลือว่าไทยอาจใช้มาตรการนี้ ชวนไปดูวิธีการจัดการ “เคอร์ฟิว” และการปิดเมืองของ "ต่างประเทศ" ว่าพวกเขาใช้วิธีนี้แก้วิกฤติได้แค่ไหน?
ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวลือหน้าหูว่าไทยอาจประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชม.” หลังจากทางการไทย “ประกาศเคอร์ฟิว” ตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันละ 6 ชั่วโมง (22.00-04.00 น.) และย้ำว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลงก็อาจจะยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น หลายคนจึงคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าอาจจะเป็นการประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชม.” ซึ่งภายหลังโฆษก ศบค. ออกมายืนยันว่าทางการยังไม่มีการประกาศดังกล่าว
แต่ไม่ว่าทางการจะยกระดับประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชม.” หรือไม่ก็ตาม ยังไงก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เตรียมการไว้ก่อน หรือออกข้อปฏิบัติต่างๆ ให้ประชาชนรู้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่จะให้การเคอร์ฟิวนั้นมีประสิทธิภาพที่สุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ก่อนจะถึงวันนั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาส่องการต่อสู้กับโรค โควิด-19 ด้วยประกาศเคอร์ฟิวและการปิดเมืองของ "ต่างประเทศ" ดูสิว่าประเทศอื่นมีวิธีการอย่างไร? และได้ผลดีแค่ไหน?
1. ประเทศจีน “การบริหารจัดการเข้มงวดสูงสุด 24 ชั่วโมง”
เมืองฮู่ฮั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดครั้งใหญ่ของชาวโลกในครั้งนี้ และเป็นศูนย์กลางการระบาดของ โควิด-19 ในประเทศจีนด้วย เมื่อถึงจุดพีคของการระบาด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทางการจีนจึงใช้ยาแรงในการจัดการวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ โดยประกาศใช้มาตรการ “การบริหารจัดการปิดเมืองเข้มงวดสูงสุดตลอด 24 ชั่วโมง” (อาจจะคล้ายกับประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ในประเทศอื่นๆ) ซึ่งมาตรการนี้ทางการจีนจะควบคุมเด็ดขาด มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ปิดเมืองอู่ฮั่นทั้งเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563
จากนั้นก็ใช้มาตรการเดียวกันนี้ในอีกหลายเมืองใกล้เคียง เพื่อดูแลประชากรจำนวนกว่า 500 ล้านคน ซึ่ง สี จิ้นผิง ผู้นํารัฐบาลจีนประกาศให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายใช้ทุกวิถีทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดนี้ให้ได้ แม้จะหมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงที่สุดในประวัติศาสตร์จีนก็ตาม รวมถึงคำสั่งในการส่งทัพบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเข้าตรวจโรค และสร้างโรงพยาบาลสนามจำนวนมากเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ในเวลาอันรวดเร็ว
โดยเฉพาะเมืองฮู่ฮั่นที่เป็นศูนย์กาลางการระบาดนั้น ทางการบังคับใช้มาตรการ “ปิดเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์” เป็นการปิดเมืองที่แน่นหนาที่สุด แข็งแรงที่สุด และห้ามทุกคนออกจากเมืองอู่ฮั่นเด็ดขาด มีคำสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านหรืออพาร์ตเมนต์สําหรับพักอาศัย และกําหนดให้เข้าออกได้เพียงประตูเดียว แต่ละครัวเรือนสามารถส่งตัวแทน 1 คน ออกไปภายนอกได้ทุกๆ 3 วันต่อครั้ง เพื่อซื้อหาอาหารและของใช้จําเป็น และทุกครั้งที่ผ่านประตูเข้าออก จะต้องถูกตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย
โดยมีเจ้าหน้าที่คอบควบคุมอยู่อย่างใกล้ชิด ห้ามออกจากอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเดินทางออกนอกเมือง และกําหนดว่าหากต้องการซื้อยาแก้หวัดแก้ไข้ต่างๆ ต้องเปิดเผยอุณหภูมิร่างกาย พร้อมแจ้งที่อยู่ และหมายเลขบัตรประชาชนทุกครั้ง และเพื่อลดความจําเป็นของการออกนอกบ้านลง เจ้าหน้าที่ประจําชุมชนจะเป็นผู้จัดซื้อและส่งมอบข้าวของที่จําเป็น รวมถึงเวชภัณฑ์ให้กับลูกบ้านในแต่ละเขตปกครอง
ผลของมาตรการ : ในระยะเวลาเพียงเดือนกว่าๆ มาตรการของจีนเหล่านี้แสดงผลให้เห็นชัดเจนว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนเริ่มลดลงต่อเนื่อง มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อ 5 มีนาคมนี้ แต่ก็ไม่มากเท่าประเทศอื่นๆ ในเวลาเดียวกันที่พบว่ายอดผู้ป่วยกำลังไต่ขึ้นสูงมาก
2. เกาหลีใต้ “พื้นที่บริหารจัดการพิเศษด้านสาธารณสุข”
เกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากรองลงมาจากจีน การรับมือของรัฐบาลเกาหลีใต้นั้นไม่ได้ใช้ยาแรงเหมือนรัฐบาลจีน ไม่มีการปิดเมือง ไม่มีมาตรการ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” แต่ใช้มาตรการประกาศ “พื้นที่บริหารจัดการพิเศษด้านสาธารณสุข” ซึ่งเน้นการตรวจโรคให้เร็วและครอบคลุมที่สุด ประกอบการขอความร่วมมือประชาชนให้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน รัฐบาลมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่พื้นที่อื่นๆ
สำหรับ “พื้นที่บริหารจัดการพิเศษด้านสาธารณสุข” รัฐบาลได้ออกคำสั่งไปยัง 2 เมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของเกาหลีใต้ คือ เมืองแทกูและเมืองชองโด มีประชากรราว 2.4 ล้านคน กองควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีได้กักบริเวณสมาชิกของโบสถ์ชินชอนจิในเมืองแทกูเกือบ 10,000 คน ให้อยู่ภายในบ้านของตนเอง และสถานที่ซึ่งทางการจัดเตรียมไว้ให้ ส่วนประชาชนอื่นๆ ก็ขอให้กักตัวอยู่บ้านเช่นกัน
จากนั้นทางการเกาหลีใต้ใช้มาตรการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเชื้อไวรัสให้ได้เร็วที่สุด และตรวจให้ได้มากที่สุด โดยก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ได้พัฒนาชุดตรวจเชื้อแบบง่ายๆ เตรียมไว้ตั้งแต่จีนประกาศพบผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมกราคมแล้ว จึงทำให้เจ้าหน้าที่เกาหลีสามารถตรวจกลุ่มเสี่ยงได้ถึงวันละ 10,000 คน ทำให้รู้กลุ่มเสี่ยงเจ้าหน้าที่ก็จัดการต่อได้เร็ว อีกทั้งยังเน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วย เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วทางการจะจัดทำระบบติดตามการเดินทางของผู้ป่วย ติดตามจีพีเอสในโทรศัพท์ มีระบบแจ้งเตือน แล้วรัฐบาลจะส่งต่อข้อมูลไปยังประชาชนคนอื่นๆ ผ่านเอสเอ็มเอสหรือเว็บไซต์ทางการ (โดยไม่ระบุชื่อผู้ป่วย) เพื่อให้ประชาชนติดตามข้อมูลว่าตัวเองเคยไปที่เดียวกันกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าใครเคยไปสถานที่เสี่ยงก็ไปตรวจโรคได้เร็ว ส่วนคนอื่นๆ ก็จะได้ไม่ต้องเสี่ยงในสถานที่นั้นๆ
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีไข้ปานกลางจะมีการจัดพื้นที่กักตัวซึ่งมีบริการทางการแพทย์ดูแลและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ใครที่มีไข้อ่อนกว่านั้นและดูแลตัวเองได้ ทางการจะให้กักตัวในบ้านและห่างจากญาติประมาณ 2 อาทิตย์และรัฐบาลจะจัดส่งกล่องยังชีพให้ด้วย ส่วนใครฝ่าฝืนไม่กักตัว จะเสียค่าปรับสูงสุด 3 ล้านวอน หรือประมาณ 78,000 บาท
ผลของมาตรการ : หลายประเทศทั่วโลกยกย่องมาตรการการดูแลของเกาหลีใต้ และต้องยอมรับว่าเกาหลีใต้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ทำให้ค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและควบคุมการระบาดได้ทันท่วงที ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีผู้เสียชีวิต 67 คน หรือไม่ถึง 1%
3. ซาอุดิอาระเบีย “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง”
ประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศ "เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง" ในเมืองเมกกะและเมืองเมดินา โดยกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลได้ประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ครั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 สำนักข่าว แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียออกคำสั่ง “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ห้ามคนออกจากบ้านในนครเมกกะและนครเมดินา ซึ่งเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. 2563 เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 โดยยกเว้นกรณี ออกมาซื้ออาหารและหาหมอ หรือเป็นพนักงานของหน่วยงานที่จำเป็นเท่านั้น
รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ “ประกาศเคอร์ฟิว” วันละ 15 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 15.00-06.00 น. ในเช้าวันถัดไป แต่ทั้งนี้รัฐบาลซาอุฯ ได้ประกาศข้อยกเว้นสำหรับแรงงานที่จำเป็นต้องออกจากเคหะสถาน รวมทั้งประชาชนที่ต้องไปซื้ออาหารและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์
โดยช่วงที่ผ่านมา ซาอุฯ ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมการระบาด ทั้งสั่งระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ, ระงับการเดินทางไปแสวงบุญและปฏิบัติศาสนกิจที่นครเมกกะ หรือ อุมเราะห์, ปิดสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ และจำกัดการเดินทางภายในประเทศอย่างเข้มงวด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มสูงขึ้นรายวัน จนทำให้ต้องประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ในที่สุด
ผลของมาตรการ : ยังต้องติดตามต่อไป
4. เมืองทัสคาลูซา สหรัฐฯ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง”
สำนักข่าว WSFA12 News รายงานว่า นายกเทศมนตรีของเมืองทัสคาลูซา รัฐอลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” โดยขอให้ผู้อยู่อาศัยทัสคาลูซาทุกคนต้องอยู่ในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากจะออกนอกบ้านด้วยเหตุผลจำเป็นเท่านั้น โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม ไปจนถึง 11 เมษายน 2563 โดยมีข้อยกเว้นให้กลุ่มคนทำงานบางส่วน ได้แก่
- การทำงานในธุรกิจที่จำเป็นและสำคัญ เช่น ร้านขายของชำ, ร้านขายยา, สถาบันการเงิน และสถานีบริการน้ำมัน
- การซื้ออาหารออนไลน์และการบริการจัดส่ง
- การเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดหมาย
- การออกกำลังกายที่ศูนย์การกีฬา และยังคงต้องเว้นระยะทางสังคมหกฟุต
- ธุรกิจและสถานที่ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพตามที่กรมสาธารณสุขแห่งรัฐอลาบามากำหนดไว้ เช่น ศูนย์ความปลอดภัยสาธารณะและบริการฉุกเฉิน, ผู้ให้บริการทางการแพทย์, ผู้ให้บริการสาธารณสุข, ผู้ให้บริการสาธารณูปโภค, สื่อต่างๆ, การขนส่งเชื้อเพลิง เวชภัณฑ์ หรือเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน
หากใครที่ฝ่าฝืน “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” จะถือเป็นความผิดทางอาญา โดยมีบทลงโทษสำหรับการละเมิดเคอร์ฟิวคือต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 300 ดอลล่าร์และต้องจำคุก 180 วัน
ผลของมาตรการ : ยังคงต้องติดตามต่อไป
5. ประเทศเกรนาดา "เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง"
ประเทศเกรเนดา ตั้งอยู่บนเกาะในทะเลแคริบเบียนตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศอิสระที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ในซีกโลกตะวันตก หลังจากโรคระบาดโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ทางรัฐบาลของประเทศเกรเนดาก็ได้ออกประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” เพื่อควบคุมสถานการณ์วิกฤติ โดยนายกรัฐมนตรี Grenadian ออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะยาว และเริ่มออกมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา
ในช่วงแรกยังเป็นเพียงการประกาศเคอร์ฟิวบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่พอพบว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นรัฐบาลจึงยกระดับประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ต่อวัน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 19.00 น.ในวันถัดไป เริ่มขึ้นช่วงกลางคืนของวันที่ 30 มีนาคม จนถึงวันที่ 6 เมษายน 2563
นอกจากนี้รัฐบาลประกาศใช้กฎระเบียบอื่นๆ อีกมากมายภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ยกเลิกบริการสายการบินในเชิงพาณิชย์ทั้งหมด, ปิดท่าเรือที่ให้บริการเรือสำราญทุกลำ, ยกเลิกการชุมนุมและกิจกรรมทางสังคม, ห้ามไม่ให้ไปเที่ยวทะเลและชายหาด, สั่งปิดร้านค้าทั้งหมดในสถานที่ท่องเที่ยว, ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ร้านขายของชำทั่วไปเปิดบริการใน 8.00-12.00 น. ในวันที่ทางการกำหนดเท่านั้น และผู้คนจะได้รับอนุญาตให้ซื้อของชำด้วยตนเองในวันและเวลาที่ทางการกำหนดเช่นกัน
รัฐบาลให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุฉุกเฉินมีอำนาจในการตรวจตราและจับกุมผู้ฝ่าฝืน และสามารถสั่งปิดสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดโรคได้ หากพบการฝ่าฝืนจะถูกสั่งปรับ 1,000 ดอลล่าร์ และถูกจำคุกเป็นเวลา 12 เดือน
การประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ครั้งนี้มีข้อยกเว้น คือ ให้ยกเว้นร้านขายของชำซึ่งเปิดเฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติการฉุกเฉินและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจะยังคงดำเนินต่อไปไม่ให้หยุด
ผลของมาตรการ : ยังคงต้องติดตามต่อไป
6. จอร์แดน “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง”
รัฐบาลจอร์แดนเริ่มประกาศใช้ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” เพื่อควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ในเวลา 24.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายนเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมดูแลประชาชนมากถึง 10 ล้านคนให้กักตัวอยู่บ้านและห้ามฝ่าฝืนคำสั่ง อีกทั้งในช่วง “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” นี้ รัฐบาลยังสั่งปิดร้านค้า ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหาร และร้านขายยา รวมถึงปิดโรงพยาบาลบางส่วนและให้เปิดได้เพียงโซนบริการการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น ถือว่ารัฐบาลจอร์แดนเลือกใช้ยาแรงในการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด
รัฐบาลจอร์แดนระบุว่า “เราต้องค้นหารูปแบบการเคอร์ฟิวที่สมบูรณ์ที่สุด ใช้ความสามารถของทุกฝ่ายควบคุมการระบาดให้ได้มากที่สุด และเตรียมพร้อมสำหรับความเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นตามมา การแพร่ระบาดของโรคหากควบคุมได้ยาก เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมมือกับวิกฤติในระยะยาว รวมถึงเตรียมการฟื้นฟูจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เสียหายวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้”
หลังจากการประกาศ “เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง” ทางการได้นำกำลังทหารและตำรวจจำนวนกว่า 10,000 นาย เข้าควบคุมพื้นที่ทั่วประเทศ กองทัพได้ยึดรถยนต์และจับกุมคนขับที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายสิบราย รวมถึงเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวออกไปทำละหมาดที่มัสยิดทั้งๆ ที่ทางการประกาศห้าม แม้แต่รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลก็ถูกกักตัวอยู่ในบ้านเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลกล่าวว่าจะผ่อนคลายเคอร์ฟิวในวันเสาร์ที่ 4 เมษายน เพื่อให้คนเดินเท้าซื้อสินค้าจากร้านขายของชำและร้านเบเกอรี่ในช่วงกลางวัน แต่ยังคงห้ามการเดินทางหรือใช้ยานพาหนะต่างๆ และยังคงบังคับใช้เคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนต่อไป
ผลของมาตรการ : ยังคงต้องติดตามต่อไป
7. ศรีลังกา “เคอร์ฟิวเป็นครั้งคราว”
รัฐบาลศรีลังกาก็ใช้วิธีการ “ประกาศเคอร์ฟิว” เพื่อควบคุมการระบาด “โควิด-19” เช่นกัน แต่จะประกาศเคอร์ฟิวแต่ละเขตไม่เหมือนกัน มีการผ่อนผันเป็นครั้งคราว แล้วจึงประกาศใหม่สลับกันไป เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ศรีลังกาเริ่มประกาศเคอร์ฟิวทั่วเกาะมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2563 แจ้งเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงๆ เช่น ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 12.00 น. ในวันเดียวกัน มีการผ่อนผันเคอร์ฟิวบางช่วง จากนั้นประกาศใช้อีกครั้งในวันที่ 27-28 มีนาคม และต่อมาในวันที่ 30 มีนาคมก็มีการปรับเวลาเคอร์ฟิว เป็นตั้งแต่เวลา 14.00 น. ไปจนถึง 06.00 น. ของเช้าวันที่ 1 เมษายน
ล่าสุด.. วันที่ 6 เมษายน รัฐบาลศรีลังกาออกมาประกาศว่าให้ทำงานแบบ work from home ตั้งแต่วันที่ 6-10 เมษายน สำหรับพนักงานทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนคำสั่งเคอร์ฟิวก่อนหน้านั้นใน 19 เขตจะถูกยกเลิกในเวลา 6.00 น. ของวันที่ 6 เมษายน และจะเคอร์ฟิวอีกครั้งในเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน และยังคงคำสั่งอื่นๆ ไว้เช่นเดิม คือ ห้ามไม่ให้เดินทางข้ามเขต หากฝ่าฝืนจะมีโทษรุนแรงตามกฎหมายทันที ยกเว้นเป็นการเดินทางด้านบริการที่จำเป็น หรือคำสั่งที่ออกโดยสำนักงานประธานาธิบดี รวมถึงยกเว้นให้กิจกรรมการเกษตรและผู้ที่เกี่ยวข้องในการผลิตพืชส่งออก เช่น ชา จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในช่วงเคอร์ฟิวได้
ส่วนเมืองที่เป็นพื้นที่เสี่ยงอย่างโคลัมโบ, กัมปาฮา, คาลูทารา, ปัตตาลัม, แคนดี้ และจาฟฟ์นา จะยังคงบังคับใช้ “เคอร์ฟิวเข้มงวด” อย่างต่อเนื่องต่อไป เช่น ห้ามไม่ให้เดินทางเข้าหรือออกจากพื้นที่ดังกล่าว, บังคับใช้เคอร์ฟิวยาวนานกว่าพื้นที่อื่นๆ (แต่ไม่ได้ระบุว่า 24 ชั่วโมงหรือไม่) สำหรับในช่วงเวลาเคอร์ฟิวรัฐบาลได้จัดให้มีการจัดหาอาหารและสินค้าที่จำเป็นอื่นๆ ส่งให้พื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถซื้อได้ในขณะอยู่ที่บ้าน
ผลของมาตรการ : ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร พบว่าในช่วงวันที่ 2 เมษายน หลังประกาศเคอร์ฟิว (บางช่วงเวลา) ได้เพียง 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็จับกุมผู้ฝ่าฝืนได้มากถึง 1,015 คน และยึดรถยนต์ได้ 254 คัน และหากนับรวมการประกาศเคอร์ฟิวช่วงแรกตั้งแต่ 20 มีนาคม เป็นต้นมา พบว่าเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวได้มากถึง 9,466 คน
-----------------------
อ้างอิง:
https://www.news.lk/news/political-current-affairs/item/29948-curfew-notice-05-04-2020
http://www.colombopage.com/archive_20A/Mar25_1585150118CH.php
https://www.newsfirst.lk/2020/03/30/curfew-in-19-districts-to-be-in-effect-until-6-am-on-april-1/
https://bb.usembassy.gov/covid-information-grenada/
https://www.wsfa.com/2020/03/25/tuscaloosa-mayor-walt-maddox-issues-curfew-city/
http://jamaica-gleaner.com/article/caribbean/20200330/grenada-declares-24-hour-curfew
https://www.middleeastmonitor.com/20200405-jordans-nationwide-curfew-brings-country-to-standstill/