เตือน! ’เคอร์ฟิว’ คืนนี้ เพิ่มความเข้ม
"ตำรวจ" ย้ำแนวทางปฏิบัติ "เคอร์ฟิว" ให้ทุกหน่วย ปรับแผน ยกระดับ ทุกจุดตรวจ เข้มงวดกับทุกคนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม หลังผ่อนผันมาแล้ว 3 วัน
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีบันทึกข้อความส่วนราชการที่ 0007.35/972 ลง 4 เมษายน 2563 เรื่องแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ถึง ผบ.ตร. และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ใจความว่า
ตามที่ นายกรัฐมนตรีลงนามในข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่2) ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นบุคคลที่ได้รับข้อยกเว้น หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานตามประกาศในข้อ1 ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น
เพื่อให้การดำเนินการรองรับข้อกำหนดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงให้ทุกหน่วยยึดถือแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่งปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
1.ปรับรูปแบบการปฎิบัติของจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเพิ่มเติมการปฏิบัติในลักษณะจุดตรวจเคลื่อนที่ จุดตรวจชั่วคราว จุดตรวจถาวร หรือชุดสายตรวจร่วม เพิ่มความเข้มในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อกำหนด โดยในพื้นที่รอบนอกซึ่งไม่ใช่เขตเมือง ให้ใช้กำลังตำรวจสนธิกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนพื้นที่ในเขตเมืองจะเสริมด้วยกำลังทหาร(สห.) เท่าที่จำเป็น โดยให้หารือและประสานการปฏิบัติกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารอย่างใกล้ชิด
2.หยุดเจตนารมณ์หลักในการบังคับใช้ข้อห้ามต่อผู้ที่ยังมีพฤติกรรมเดินทางแบบปกติและไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social distancing) ซึ่งใน 3 วันแรกจะผ่อนผันโดยใช้ดุลพินิจตามเจตนารมย์ข้างต้นและจะบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
3.ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 เป็นหน่วยปฏิบัติหลักในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดสายตรวจ โดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยในสังกัด และส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
4.ให้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปม.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ รวบรวมผลการปฏิบัติของหน่วย โดยให้ดำรงการติดต่อสื่อสารกับหน่วยปฏิบัติทุกระดับได้อย่างต่อเนื่อง