ตรวจสอบ 10 อาชีพ ที่ไม่มีสิทธิรับเยียวยา 5,000 บาท

ตรวจสอบ 10 อาชีพ ที่ไม่มีสิทธิรับเยียวยา 5,000 บาท

อัพเดทคุณสมบัติ เคลียร์ชัด! ตกลงใครมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ บ้าง!?

วันที่ 8 เม.ย.63 นี้แล้ว ที่ผู้ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะเริ่มทยอยได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยเชื่อว่า หลายๆ คนคงกำลังลุ้นว่า ตนเองมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทหรือไม่ หลังจากฝ่าฟันสารพัดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเว็บล่มในวันแรก จนถึงการกรอกผิดกรอกถูก รวมถึงหลายคนที่กังวลว่า การกรอกข้อมูลผิดจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยกระทรวงการคลังได้เปิดให้ยกเลิก-แก้ไขในเวลาต่อมานั้น

ล่าสุดก็มาถึงด่านหินถัดมา นั่นคือ การลุ้นว่า คุณสมบัติของผู้ยื่นจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ โดยในด่านนี้ มี AI เป็นผู้คุมกฎ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า โครงการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในครั้งนี้ มีผู้ลงทะเบียนล่าสุดสูงถึง 24.2 ล้านคน แม้จะมีการยกเลิกการลงทะเบียนไปบ้างก็ประมาณ 3 แสนคนเท่านั้น

จากการเปิดเผยของ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วานนี้ (6 เม.ย.) ได้ให้ข้อมูลว่า ณ ขณะนี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์ เตรียมจะได้รับการโอนเงินจำนวนประมาณ 1.68 ล้านราย ซึ่งจะเริ่มทยอยโอนเงินระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย.นี้ แบ่งเป็นวันที่ 8 เม.ย.จำนวน 2.8 แสนคน, วันที่ 9 เม.ย.จำนวน 7.53 แสนคน และวันที่ 10  เม.ย.จำนวน 6.44 แสนคน

อ่านอัพเดทเพิ่มเติม : จ่ายเงิน "เราไม่ทิ้งกัน" ล็อตแรกมีอาชีพอะไรบ้าง แล้วทำไม "ผู้ค้าออนไลน์" จึงอด!?

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดกรอง “ผู้มีสิทธิ” เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เม.ย. ได้คัดกรอง 4 กลุ่มอาชีพที่ได้รับการเยียวยา คือ กลุ่มลูกค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และมัคคุเทศก์ กลุ่มนี้มีประมาณ 2-3 แสนคน ต่อมาเลือกอีกกลุ่ม คือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า โดยกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นล็อตแรกๆ ที่จะได้รับเงินเยียวยา

"ผู้ที่ได้รับเงินโอนในวันไหน เดือนต่อไปก็จะได้รับวันนั้น ซึ่งรอบสุดท้าย กำหนดวันสิ้นสุดการโอนเงิน คือ 8 มิ.ย.นี้ สำหรับรายที่ได้รับการคัดกรองล่าช้าเป็นเดือน จะโอนย้อนหลังให้"

ทั้งนี้ "คนที่ผ่านเกณฑ์" คือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

ส่วน “คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์” มี 10 กลุ่มประกอบด้วย 

1.อายุต่ำกว่า 18 ปี 

2.เป็นผู้ว่างงาน 

3.ข้าราชการ 

4.พนักงานรัฐ 

5.ผู้รับบำนาญ 

6.นักเรียน นักศึกษา 

7.เกษตรกร 

8.ผู้ค้าออนไลน์ 

9.รับจ้างก่อสร้าง 

10.โปรแกรมเมอร์

158619280127

สำหรับระยะเวลาคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยานั้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์  โดยผู้ที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียว คือ ผ่านการคัดกรองเราก็จะทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ ส่วนกลุ่มสีแดง คือ ไม่ผ่านการคัดกรอง และกลุ่มสีเทา กลุ่มนี้จะต้องได้รับการตรวจสอบหรือขอข้อมูลเพิ่ม ฉะนั้น กลุ่มนี้ก็จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร

เขากล่าวด้วยว่า  ขณะนี้ยอดลงทะเบียนเริ่มลดลงเหลือหลักแสนคนต่อวัน หากเหลือหลักหมื่นคนต่อวัน กระทรวงการคลังจะมีการปิดการลงทะเบียน ซึ่งก่อนที่จะปิดจะมีการแจ้งล่วงหน้า 7 วันทำการ

พร้อมยอมรับว่า ยอดลงทะเบียนที่เข้ามาจำนวนมากนั้น  “เกินความคาดหมาย” จากที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียง 3 ล้านคน ต่อมามีเป้าหมายเพิ่มอีก 6 ล้านคน จากแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระ แต่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ทำให้เป้าหมายขณะนี้อยู่ที่ 9 ล้านคน 

ขณะนี้ยอดลงทะเบียนเริ่มลดลงเหลือหลักแสนคนต่อวัน หากเหลือหลักหมื่นคนต่อวัน กระทรวงการคลังจะมีการปิดการลงทะเบียน ซึ่งก่อนที่จะปิดจะมีการแจ้งล่วงหน้า 7 วันทำการ

อย่างไรก็ดี จากการประเมินเบื้องต้น เราคาดว่าจะมีผู้ที่ผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนดประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น

“ตัวเลข 3 ล้านคน เราไม่ได้มั่ว แต่มีที่มา กล่าวคือ ประชากรในประเทศมีจำนวน 66 ล้านคน ตัดเด็กและผู้สูงอายุ 11 ล้านคน เหลือแรงงาน 44 ล้านคน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นแรงงานที่มีงานทำ 38 ล้านคน เหลือ 6 ล้านคนไม่มีงานทำ ตกงาน หรือเรียนหนังสืออยู่ และในจำนวน 38 ล้านคน ตัดคนที่เป็นเกษตรกรออก 17 ล้านคน อยู่ในประกันสังคม 16 ล้านคน และเป็นข้าราชการอีก 2 ล้านคน ฉะนั้นก็จะเหลือคนที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้น 3 ล้านคน”

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ตัดออกนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้ทอดทิ้ง โดยรัฐบาลจะมีมาตรการออกมาดูแลอีกรอบ ซึ่งเป็นมาตรการดูแลผลกระทบโควิด-29 ระยะที่ 3 ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เม.ย.นี้