2 ปัจจัยสำคัญ กำหนดทิศทางการเสียชีวิตจากโควิด

2 ปัจจัยสำคัญ กำหนดทิศทางการเสียชีวิตจากโควิด

นพ.เฉลิมชัย ระบุ อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ สัดส่วนผู้ติดเชื้อเทียบกับจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ และ ความสามารถของระบบสาธารณสุข

นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุถึงสถานการณ์ของไทยในวันที่ 6 เมษายน 2563 ว่า วันนี้ผู้ติดเชื้อของไทยมีจำนวน 2,220 คน เพิ่ม 51 คน คิดเป็น 2.35% เทียบกับผู้ติดเชื้อของโลกจำนวน 1.2 ล้านคน เพิ่ม 64,992 คน คิดเป็น 5.41% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ


ขณะที่ ผู้เสียชีวิตของไทยจำนวน 26 คน คิดเป็น 1.17% เทียบกับผู้เสียชีวิตของโลกจำนวน 68,967 คน คิดเป็น 5.45% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และถ้าดูค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 วัน (1-6 เมย 2563) จะพบว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นต่อวันลดลงจาก 7.27% ลงมาเป็น 2.35% คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.07% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อใหม่ของโลกเพิ่มขึ้นต่อวันลดลงจาก 10.45% ลงมาเป็น 5.41% คิดเป็นค่าเฉลี่ย 8.62% แสดงว่าไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันน้อยกว่าของโลกพอสมควร (5.41% VS 8.56%)

ส่วนอัตราผู้เสียชีวิตของไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.68% เป็น 1.17% ในขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตของโลกเพิ่มขึ้นจาก 4.91% เป็น 5.45% ไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับระดับโลก แต่อัตราผู้เสียชีวิตของไทยต้องถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ (1.17% VS 5.45%)

"มีสถิติอีกตัวที่น่าสนใจครับ คืออัตราการเสียชีวิตจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ 2 ปัจจัยที่สำคัญคือ ปัจจัยจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยต้องเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรของแต่ละประเทศด้วย และปัจจัยความสามารถของระบบสาธารณสุขที่สามารถรองรับผู้ป่วยว่ามีมากน้อยเพียงใด" นายแพทย์ เฉลิมชัย ระบุ

กล่าวเฉพาะปัจจัยจำนวนผู้ป่วยต่อจำนวนประชากรของประเทศต่างๆ พบว่า เมื่อคำนวณจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 1 ล้านคน จะเป็นดังนี้

1) สเปน มีผู้ติดเชื้อ 2,843 คน อัตราเสียชีวิต 9.50%


2) อิตาลี มีผู้ติดเชื้อ 2,149 คน อัตราเสียชีวิต 12.32%

3)ฝรั่งเศส มีผู้ติดเชื้อ 1,356คน มีอัตราเสียชีวิต 8.89%

4) เยอรมนี มีผู้ติดเชื้อ 1,163 คน มีอัตราเสียชีวิต 1.50%

5) สหรัฐ มีผู้ติดเชื้อ 1,020 คน มีอัตราเสียชีวิต 2.86%

จึงเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรของประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ร่วมกับอีกหลายปัจจัย เช่น ศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับการดูแลผู้ป่วย เราจึงไม่สามารถจะพิจารณาปัจจัยจำนวนผู้ติดเชื้อโดยลำพังได้ ต้องปรับให้เป็นสัดส่วนของผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรด้วย โดยจะเห็นชัดเจนว่า ประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูง (ซึ่งแปลว่าระบบสาธารณสุขก็จะมีข้อจำกัด) แม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่า แต่จะมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่า ดังกรณี สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าสหรัฐ แต่มีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อสูงกว่าสหรัฐมาก ก็จะพบว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าสหรัฐฯ

"สำหรับประเทศไทย ในขณะนี้เรามีสัดส่วนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย คือ 32คน/ประชากร 1 ล้านคน เราจึงวางใจหรือพอใจในตัวเลขอัตราของผู้เสียชีวิต ณ ขณะนี้ยังไม่ได้ ต้องช่วยกันคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ช้าที่สุด เพื่อทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำต่อไป" นายแพทย์เฉลิมชัย กล่าว