'เพื่อไทย' ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง 'นายกฯ' แก้หมอกควัน ไฟป่าภาคเหนือ
ส.ส.ภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง "ประยุทธ์" จี้แก้หมอกควัน ไฟป่าภาคเหนือ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาคเหนือพรรคเพื่อไทย พร้อมใจกัน ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยเป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือ
ด้วยปัญหาการเกิดฝุ่นควัน Pm 2.5 ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุหลักคือ การเผาป่ามิได้เกิดจากไฟป่าธรรมชาติ โดยลักษณะภูมิศาสตร์และภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่เป็นแอ่งกระทะ แม้ว่าปัญหาในพื้นที่อาจจะลดน้อยลง แต่เมื่อใดที่อากาศยกตัวก็จะมีกลุ่มควันมาจากจังหวัดใกล้เคียง และที่สำคัญมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังมีอุปสรรคนานัปการในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร นายอำเภอ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา ด้วยการขาดเครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำงาน ทั้งหมดนี้ พวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ดังต่อไปนี้
• ระยะสั้น
1.นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญกับปัญหา และต้องสั่งการอย่างเด็ดขาดไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามทุกเหตุของการเผาไหม้
2.ขอให้ดำเนินการเร่งรัดการดับไฟป่า และป้องกันการไหม้โดยด่วน โดยรัฐต้องสนับสนุนปัจจัยให้เพียงพอไม่ว่ากับส่วนราชการ หรืออาสาสมัครภาคประชาชน มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของภาคประชาชนอย่างที่เป็นอยู่
3.ประกาศให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อสามารถใช้งบประมาณทดลองจ่ายกรณีภัยพิบัติ
4.จัดตั้งทีมปฏิบัติการดับไฟพิเศษทันเหตุการณ์ Special Responsive Team โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มีองค์กรที่ชัดเจนโปร่งใส และมีการสนับสนุนเต็มที่จากภาครัฐ
5.จัดให้มีการเปิดเผย ข้อมูล ข้อเท็จจริง และรายงานสถานการณ์เป็นรายวัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเกิดความตระหนักรู้
6.รัฐต้องแจกหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ให้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
7.รัฐต้องจัดสรรบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ให้เพียงพอ กับการ ดูแล พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ
• ระยะกลาง
1.รัฐต้องเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพื่อหาข้อสรุป และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค
2.ขอให้ออกมาตรการให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบในกระบวนการทำลายตอและซัง ทดแทนการเผา เพื่อลดภาระของเกษตรกร
3.การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มศักยภาพในกระบวนการควบคุมไฟป่า เช่นเครื่องเป่าลมเพื่อทำแนวกันไฟ เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์บรรทุกน้ำขนาดใหญ่ในการดับไฟ เพราะในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ไม่ตรงกับภารกิจ จึงไม่มีศักยภาพในการปฏิบัติการด้านไฟป่า
• ระยะยาว
1.การให้ความรู้กับประชาชน ในเรื่องของผลกระทบจากการเผาป่า เพื่อให้เกิดองค์ความรู้นำสู่การดูแลอย่างยั่งยืน
2.รัฐต้องเร่งรัดในการออกร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และถูกบรรจุอยู่ใน SDG ( Sustainable Development Goal ) ขององค์การสหประชาชาติ ในหัวข้ออากาศสะอาดอีกด้วย
3.การสนับสนุนมาตรการทางภาษี ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
4.ผลักดันอย่างจริงจังในการใช้พลังงานทดแทน และให้นำเงินจากกองทุนพลังงานทดแทนมาเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในเรื่องฝุ่นควัน
5.ปรับปรุงกฎหมายที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ กับป่าอย่างยั่งยืน
6.ประการสำคัญนโยบายในการทำงานควรต้องเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรของชาติ เน้นการดูแลรักษา โดยน้อมนำพระราชดำริในเรื่องของการเข้าใจ เข้าถึงและการพัฒนา การบังคับโดยใช้แต่กฎหมายในเชิงนิติรัฐ ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ จำต้องพิจารณาในการใช้หลักทางด้านรัฐศาสตร์ มิใช่การบังคับจับกุมเพียงอย่างเดียว
สุดท้ายนี้ขอให้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในภาคเหนืออย่างจริงจัง โดยพวกกระผมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พี่น้องประชาชน ภาคประชาชน และภาคส่วนราชการในพื้นที่ ยินดีให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างยั่งยืนต่อไป
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาคเหนือ
พรรคเพื่อไทย