“เกษตรฯ” แนะสหกรณ์ทุกจังหวัด เร่งปลูกผักกระจายสินค้ารับเคอร์ฟิว
กรมส่งเสริมสหกรณ์ แนะสหกรณ์กรฯทั่วประเทศ เร่งผันตัวเป็นธนาคารอาหาร ปลูกผัก ผลไม้คุณภาพดี ป้อนความต้องการในแต่ละจังหวัด รองรับประชาชนการกักตุนช่วงเคอร์ฟิว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบายของโรคโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อกระจายไปในหลายจังหวัดของประเทศไทย จนส่งผลต่อการกระจายผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งเมื่อแต่ละจังหวัดเริ่มมีการออกมาตรการเข็มงวดและมีประกาศเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่ อาจส่งผลต่อการจัดหาซื้อสินค้าไว้สำหรับเพื่อการบริโภคประจำวันได้
ดังนั้น หากแต่ละจังหวัดมีผลผลิตในพื้นที่เองก็จะทำให้บรรเทาความเดือดร้อนลง และเพื่อเป็นการรองรับต่อสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเห็นว่าสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งผลิต และกระจาย ผัก ผลไม้ สำหรับบริโภคในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้แต่ละจังหวัดจะต้องมีแหล่งผลิตของตนเอง เป็นธนาคารอาหาร เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้พัฒนาเกาะเทโพ จ. อุทัยธานี จากที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกผักใช้สารเคมีมาก่อน ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นอินทรีย์ เพื่อส่งออก ปัจจุบันผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ทาง จ.อุทัยธานี จึงมีนโยบายให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตผัก ส่งให้วัดท่าซุงเพื่อเป็นโรงทาน และจัดพื้นที่จำหน่าย ในขณะที่ทางวัดท่าซุง จะช่วยในเรื่องเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อลดต้นทุนให้สมาชิก ซึ่งจากแนวคิดนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดหันกลับไปทำเพื่อให้คนในจังหวัดมี ผัก และผลไม้ ที่มีคุณภาพดีไว้รับประทาน เพื่อต่อสู้โรคโควิด-19
“โมเดลของพัฒนาเกาะเทโพ ถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่รัฐต้องการให้แต่ละจังหวัดมีแหล่งผลิตของตนเอง เป็นธนาคารอาหาร เป็นความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่ หากถูกผลักดันไปใช้ในหลายจังหวัด ก็จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และที่สำหคัญอาหารในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ขาดแคลน”
ทั้งนี้ เบื้องต้น พบว่า มี 10 จังหวัดที่พร้อมดำเนินการได้ทันที เพราะมีการปลูกผัก เพื่อจำหน่าย เช่น อุทัยธานี กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ลำปาง เพชรบุรี และเพชรบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งผักจะใช้ระยะเวลาในการปลูกสั้น ประมาณ 45 วัน ก็จะมีผลผลิตออกมา ซึ่งจะช่วยเติมเต็มในระบบตลาดในพื้นที่นั้นๆได้ ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปให้การช่วยเหลือในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ รวมถึงจะเชื่อมโยงการตลาดระหว่างสหกรณ์ บ้าน และวัด เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่ได้สร้างประโยชน์จากการผลิตและจัดซื้อสินค้าเกษตรรวมกัน