อัด ‘ซอฟท์โลน’ ปล่อยกู้นอนแบงก์ แลกพักหนี้ 'เงินต้น-ดอกเบี้ย' 6 เดือน

อัด ‘ซอฟท์โลน’ ปล่อยกู้นอนแบงก์ แลกพักหนี้ 'เงินต้น-ดอกเบี้ย' 6 เดือน

“สศค.” เผย “นอนแบงก์” ยอมพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้า 6 เดือน  แต่ต้องมีซอฟท์โลนให้เหมือนแบงก์  คลังจึงอนุมัติให้ออมสินปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนให้วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้หารือกับผู้ประกอบการสถาบันการเงินไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ได้แก่ สมาคมลีสซิ่งไทย จำนวน 33 บริษัท สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และชมรมสินเชื่อส่วนบุคล เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 6 เดือน ให้กับลูกหนี้ ในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีข้อเรียกร้องให้พักหนี้จากประชาชนจำนวนมาก

เขากล่าวว่า หลังการหารือกับธุรกิจนอนแบงก์ ผู้ประกอบการยินดีที่จะดำเนินการพักเงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่มีนโยบายยึดรถยนต์และยึดมอเตอร์ไซค์ของลูกหนี้คนใด หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟท์โลนให้กับธุรกิจนอนแบงก์ เพราะรายได้ของธุรกิจมาจากดอกเบี้ย ถ้าดำเนินการพักหนี้ตามมาตรการของรัฐบาล บริษัทจะไม่มีเงินรายได้เข้ามาเลย ในช่วงที่ช่วยเหลือลูกค้า

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นชอบให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อซอท์โลน วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท จากวงเงินซอฟโลน์ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจนอนแบงก์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เท่านั้น โดยให้ทางผู้ประกอบการนอนแบงก์สามารถเข้ามาใช้สินเชื่อในลักษณะเดียวกับธนาคารอื่นๆ ที่เข้ามาขอใช้ซอฟท์โลนกับธนาคารออมสิน

สำหรับสินเชื่อซอฟท์โลนที่ธนาคารอออมสิน ได้ดำเนินการจัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์ไปแล้วนั้น จะให้มีการดึงกลับคืนมา เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เตรียมไปใช้ซอฟท์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปล่อยให้จำนวน 5 แสนล้านบาท

 โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ในวงเงิน 20% ของวงเงินกู้เดิม อัตราดอกเบี้ยพิเศษไม่เกิน 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจะดูแลจ่ายดอกเบี้ยให้ใน 1 ปีแรก

“ซอฟท์โลนแบงก์ชาติจะมีเงื่อนไขที่ดีกว่าซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน เพราะของธปท.ชดเชยความเสียหายให้แบงก์ 60-70% ของวงเงินกู้ หากหนี้ดังกล่าวกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจปล่อยกู้ และไปใช้สินเชื่อของแบงก์ชาติมากกว่า" นายลวรณ กล่าว 

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)  การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการพักหนี้และลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต 

 ดังนั้น เมื่อมีการออกพ.ร.ก.ลูกหนี้แบงก์พาณิชย์จะได้รับการพักหนี้เป็นเวลา 6 เดือน เพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ ที่ใช้วิธีการขอความร่วมมือ ทำให้แบงก์พาณิชย์บางรายไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก