แบงก์หั่น‘ดอกเบี้ย’อุ้มลูกค้า โบรกฟันธงฉุดกำไรดิ่ง 5%
นักวิเคราะห์ประเมินแบงก์ใหญ่แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ฉุดประมาณการกำไรปีนี้ 5% ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาสแรกส่อแววหดตัวกว่า 20% แนะขายล็อกกำไรหลังฟื้นตัวราว 7% เหตุแนวโน้มไตรมาส 2 แย่กว่าไตรมาสแรก
หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มไฟแนนซ์ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ราว 8-10% ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ อย่างล่าสุด คือการอนุมัติวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ได้ขอให้กลุ่มสถาบันการเงินเหล่านี้ช่วยกันแบ่งเบาผลกระทบ ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา 0.40% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. นี้
นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลง 0.4% จะกระทบต่ออัตรากำไรของหุ้นในกลุ่มนี้โดยตรง แม้ธปท.จะปรับลดอัตราส่งเงินสมทบกองทุนรับประกันเงินฝากลงจาก 0.46% ของยอดเงินฝากรวม เป็น 0.23% เป็นเวลา 2 ปี แต่โดยภาพรวมยังมีส่วนต่างที่จะกดดันให้กำไรของธนาคารลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ราว 5%
ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กซึ่งเป็นธุรกิจเช่าซื้อค่อนข้างจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบกำหนดตายตัว (Fixed rate) อย่างไรก็ตามคาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกันในระยะถัดไป
“ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับตัวขึ้นมาจนถึงระดับนี้ รวมทั้งดัชนีหุ้นไทยที่ขยับขึ้นมาถึงระดับ 1,230 จุด ทำให้โอกาสในการไปต่ออาจมีอีกแค่นิดหน่อย สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นกลุ่มแบงก์อยู่ อาจจะพิจารณาขายทำกำไรออกมาบ้าง ส่วนคนที่ไม่มีนั้นมองว่าจุดนี้ไม่ควรเก็บเพิ่มแล้ว เพราะแนวโน้มกำไรไตรมาส 2 อาจจะหดตัวแรกกว่าไตรมาสแรก”
ทั้งนี้ หลังจาก ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือ SME ผ่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้าน โดย มี 3 โครงการคือ 1.พักชำระหนี้ทั้งเงินกู้และดอกเบี้ย SME 6 เดือน 2.ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ SME ที่ดอกเบี้ย 2% โดย ธปท.จะรับภาระดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก และ 3.ปรับลดอัตราส่งเงินสมทบกองทุนรับประกันเงินฝากลงจาก 0.46% ของยอดเงินฝากรวม เป็น 0.23% เป็นเวลา 2 ปี
บล.บัวหลวง เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ธนาคารได้รับผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก ยกเว้นสำหรับธนาคารที่มีพอร์ตลูกหนี้ SME จำนวนมาก เช่น KBANK และ KKP น่าจะได้รับผลกระทบจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมากสุดปีนี้ ประมาณ 0.09 - 0.10% ส่งผลต่อกำไรประมาณการของเรา 5%
ส่วนหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ จากการที่ ธปท.ออกมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19 โดยจะเริ่มในเดือน พ.ค. นี้ มองว่า MTC และ SAWAD จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าอยู่แล้วผ่านการลดต้นและดอกลง 30%
สำหรับ KTC ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าบัตรเครดิต เปลี่ยนเป็นสัญญาเงินกู้ผ่อนรายเดือนที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าบัตรเครดิตน้อยรายที่จะดำเนินการดังกล่าว ด้าน BAM และ JMT ได้ลดเงินต้นและดอกเบี้ยรวมถึงการพักชำระหนี้ ซึ่งเราได้รับลดผลตอบแทนการลงทุนลงไปแล้วสำหรับประมาณการปี 2563 แล้ว
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ลดลง 23% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 1.7% จากไตรมาสก่อน ประเมินว่าสินเชื่อไตรมาสแรกจะลดลงสวนทางกับ NPL ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลาง