เมื่อ “บ้าน” ปลอดเชื้อ แต่อาจไม่ปลอดภัย
ช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่า หลายประเทศ มีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้าน ขณะเดียวกัน ในบริบทของครอบครัวไทย ที่อาจแตกต่างจากหลายประเทศ การที่ต้องอยู่ร่วมกันในสถานการณ์ดังกล่าว จึงต้องอาศัยความเกื้อกูล ฟังให้มาก และสร้างเวลาคุณภาพให้ดีที่สุด
ผลสำรวจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการดูแลสุขอนามัยส่วนตัวและการรักษาระยะห่างทางสังคมของประชาชนในช่วง COVID-19 พบว่าประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ให้ความร่มมือในการเว้นระยะห่างนั้น การหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ดูแลตัวเองดีขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเครียดของประชาชนที่เพิ่มขึ้น จาก “เครียดระดับปานกลาง” ในการสำรวจครั้งก่อน 14.1% ไต่ระดับขึ้นมาเป็น 37.2% จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิ-19 มีผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ การมีงานทำ การเดินทาง และความเครียดเรื่องรายได้ รวมถึงภาวะหมดไฟและเหนื่อยล้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
- เมื่อ“บ้าน”อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม แม้การอยู่บ้านจะทำให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดโรค แต่อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในบ้าน โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง จากบทความของ ดร. บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า มาตรการสำคัญที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อบรรเทาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 คือ การให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงานและหารายได้ของประชาชน รวมไปถึงสถานศึกษาทุกระดับและสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาไว้ถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งหากนับวันที่สั่งปิดห้างร้านในวันที่ 22 มีนาคม เป็นวันแรกของการเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว เท่ากับว่าประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านประมาณ 40 วัน
องค์การยูนิเซฟ ชี้ว่า อัตราการแสวงประโยชน์และความรุนแรงต่อเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงมีที่มีโรคระบาด ตัวอย่างเช่น ในปี2557-2559 ที่เชื้อไวรัสอีโบล่าแพร่ระบาดและมีการปิดโรงเรียนในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่าจำนวนแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพุ่งสูงขึ้นกว่าปกติ โดยประเทศเซียร์ร่าลีโอนพบอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงกว่า2เท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่า
ขณะเดียวกัน ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่แรกที่ใช้มาตรการปิดเมืองและให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีรายงานว่าในเมืองหนึ่ง ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 90 ของความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เชื่อมโยงกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ จำนวนการโทรแจ้งสายด่วนความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อประชาชนต้องกักตัวในบ้าน
จากบทความ Domestic violence victims, stuck at home, are at risk during coronavirus pandemic โดย Scottie Andrew สำนักข่าว CNN รายงานว่าเมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์กมีปริมาณการโทรแจ้งสายด่วนเข้ามาเพิ่มร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และในCincinnatiมีปริมาณสายโทรเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เช่นกัน
บทความ Lockdowns around the world bring rise in domestic violence จาก The Guardian ระบุว่า ในแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปนพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง และในประเทศไซปรัสจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ
- มีความรุนแรงหรือไม่ อยู่ที่เราเลือก
สำหรับในสถานการณ์ขณะนี้ ที่ส่งผลให้มีความรุนแรงมากเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว หากครอบครัวเดิมที่ไม่มีความรุนแรงอยู่ การต้องมาอยู่ด้วยกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่พอครอบครัวที่มีความรุนแรงอยู่แล้ว และแต่ละคนไม่ต้องการปรับตัว ไม่คิดว่าตัวเองต้องทำอะไร คนที่ใช้ความรุนแรงก็รู้สึกว่าฉันทำเหมือนเดิม คนที่ถูกใช้ความรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันเรี่องนี้ ความรุนแรงจะถูกปล่อยให้เกิดขึ้น ดังนั้น เวลาโดยรวมที่มีมากขึ้น ทำให้มีเวลาใช้ความรุนแรงมากขึ้นตามไป
“อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเกิดกับทุกครอบครัว ในบางครอบครัวที่ได้ใช้เวลามากขึ้นก็อาจจะทำให้เป็นไปในทิศทางดี เป็นการตัดสินใจในครอบครัว ว่าอยากจะตัดสินใจว่าอยากจะให้ครอบครัวไปในทิศทางไหน จะไปในทางรุนแรงคุณก็ปล่อยให้มีความรุนแรงมากขึ้น หากต้องการให้มันดี ก็อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องพูดคุยกัน รับฟัง ถ้าเราฟังกัน เราอาจจะเข้าใจกันมากขึ้นว่าจริงๆ คนที่ถูกใช้ความรุนแรง หรือ คนที่ใช้ความรุนแรง เขามีความรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ภายใต้ความรุนแรงนั้น หากพูดคุยกันดีมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดน้อยลง” นายแพทย์วรตม์ กล่าว
- ฟังให้มาก พูดเท่าเดิม
นายแพทย์วรตม์ อธิบายต่อไปว่า ครอบครัวไทยหลายครอบครัวจะแตกต่างกัน ในกรุงเทพฯ จะเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่วนต่างจังหวัดเป็นครอบครัวขยายค่อนข้างเยอะ ทำให้มีหลายเจเนอเรชั่นอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้ เมื่อมีมาตรการดังกล่าว ทำให้ทุกเจเนอเรชั่น ต้องกลับมารวมกัน แน่นอนว่า ไม่เหมือนกันทุกครอบครัว เพราะบางครอบครัว ปู่ย่าตายายก็เป็นวัยรุ่นมาก บางครอบครัวก็คุยกับหลานไม่รู้เรื่องเพราะระยะห่างระหว่างเจเนอเรชั่นมีมาก
“ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะอยู่บ้านเดิมอยู่แล้ว ขณะที่เด็ก หลายคนปิดเทอมก็จะอยู่บ้านกับผู้ใหญ่ ดังนั้น คนที่ต้องปรับตัวเยอะคือ เจเนอเรชั่นตรงกลาง ซึ่งปกติต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สูงอายุเองก็อาจจะต้องปรับตัวเพราะเดิมไม่เคยมีเจเนอเรชั่นกลาง มาอยู่ด้วยเลย แต่ละบ้านมีความเฉพาะเจาะจง”
“แนะนำว่า เดิมเรามีเวลาให้กันระดับหนึ่ง คนในครอบครัวส่วนมากก็จะพูดๆ ทุกคนพูดเยอะ พ่อแม่ก็พูดกับลูกเยอะ ทุกคนเน้นเรื่องการพูด ไม่ค่อยเน้นเรื่องการฟัง เพราะฉะนั้น วันนี้เวลาที่ได้มาเพิ่มขึ้น ที่ได้อยู่ด้วยกันอยากจะเน้นให้ไม่ใช่เวลาเยอะขึ้น อยากให้ฟังมากขึ้น เพราะว่า พอเราพยายามหาเรื่องพูด บางครั้งเราก็ไปขุดเรื่องในอดีตมา สามีภรรยากันที่มีปัญหากันเนื่องจากอยู่ด้วยกันนานๆ ก็หยิบเรื่องราวที่ไม่ควรจะหยิบขึ้นมา เช่น เรื่องในอดีต”
นายแพทย์วรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพราะฉะนั้น หลักการสำคัญ คือ “รับฟัง” เมื่อคนเราฟังมากขึ้น ความเข้าใจจะตามมา ความเห็นอกเห็นใจก็จะตามมา ความทะเลาะเบาะแว้งน้อยลง และความสัมพันธ์ดีขึ้น หลักการมีแค่นี้ คือ เวลาที่ได้เพิ่มมา ฟังกันหน่อย และจะรู้จักกันมากขึ้น ปู่ย่าตายายจะรู้ว่า ลูกหลานชอบทำอะไร พ่อแม่ที่ต้องมาทำงานที่บ้าน Work from home ก็จะได้รู้ว่าปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านเฉย เขาเหงาหรือรู้สึกอย่างไรบ้าง
“พ่อแม่ลูกรู้จักลูกตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่มีเวลาคุยกันเฉพาะตอนกลับมาจากทำงาน จากเรียน รู้อีกทีก็ตอนมีปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่มากขึ้นให้ทำความรู้จักลูกมากขึ้น บางทีเราอาจจะเจอมุมมองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะเราไม่เคยมีเวลา หรือไม่ใส่ใจให้เวลากัน” นายแพทย์วรตม์ กล่าว
- สร้างเวลาคุณภาพในครอบครัว
นายแพทย์วรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญหลักการเดียว คือ เวลาที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะน้อยหรือมากแค่ไหน ต้องเป็น “เวลาคุณภาพ” (Quality Time) คือ เวลาที่ทุกคนมีความสุข ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน และทุกคนแฮปปี้ เข้าใจกันมากขึ้น ส่งเสริมให้ครอบครัวแข็งแรงมากขึ้น ถ้าเกิดเดิมมีเวลาอยู่ด้วยกัน 1 ชั่วโมง และเวลาคุณภาพมีแค่ ครึ่งชั่วโมง การที่เราได้เวลามาเพิ่ม 3 – 4 ชั่วโมงต่อวัน ขอให้ใช้เวลาทั้งหมดให้กลายเป็นเวลาคุณภาพมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เพิ่มมา 3 -4 ชั่วโมง ก็ยังเป็นเวลาที่ไร้คุณภาพอยู่ ซึ่งเวลาที่ไร้คุณภาพ คือ เวลาที่ทุกคนแยกย้าย พ่อดูทีวี ลูกดูมือถือ นี่คือเวลาที่ไร้คุณภาพ แต่ละคนแยกอยู่ในมุมของตัวเองไม่มีใครสนใจกัน ต่อให้ได้มาอีกเป็น 10 ชั่วโมงก็ไม่มีประโยชน์
อยู่ร่วมกันให้ปลอดภัย-ปลอดเชื้อ
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สังคมไทยแต่เดิมจุดเด่นคือเราให้ความเคารพกัน ระหว่างวัย การอยู่รวมกันต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน พอเกิดภาวะวิกฤต คือ กลัวโรค กลัวจน กลัวอด และข้างหน้ามืดมน หากครอบครัวไม่ช่วยกันและซ้ำเติมกันจะไม่รอด มิติสังคมเป็นเรื่องใหญ่ สังคมไทยอยู่รอดได้เพราะเรามีจุดเด่นเรื่องของน้ำใจ ความเสียสละ และคุณธรรม ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในครอบครัว ต้องเกื้อกูล และยอมเสียสละบางอย่าง
“สถานการณ์ตอนนี้แม้จะอยู่ในบ้าน ก็อยู่ใกล้ชิดแบบเก่าไม่ได้ แม้จะอยู่บ้านเดียวกันก็ยังต้องให้แยกกันทำ ปัญหาคือ หัวหน้าครัวเรือนต้องเข้าใจความต่างวัย สำหรับ ผู้สูงอายุ ต้องหากิจกรรมที่ชอบทำ เช่น ประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้ ที่สำคัญ คือ ให้ออกกำลังเคลื่อนไหว เพราะผู้สูงอายุที่น่าห่วงตอนนี้ คือ หากให้ท่านนั่งๆ นอนๆ กินๆ ผลสุดท้ายจะเดินไม่ได้ ขณะที่ วัยรุ่น ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว แต่ก็อย่าลืมออกกำลังกายด้วย และควรบริโภคข่าวสารจากโซเชียลมีเดียให้พอเหมาะ ตระหนักได้ แต่ไม่ตระหนก เป็นสิ่งสำคัญ หากดูกันมากๆ ก็จะเครียดและวิตกกันไปใหญ่"
สำคัญคือ เด็กเล็กๆ ที่กำลังวิ่งได้ กำลังซน ชอบหยิบจับสิ่งของ อยากให้แยกจากผู้สูงอายุชั่วคราว เพราะเด็กจับสิ่งของนำไปให้ผู้สูงอายุด้วยความไม่รู้ และเขาไม่โตพอที่จะรักษาความสะอาดอาจนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุได้
สำหรับสามีภรรยาในวัยทำงาน ที่เคยแยกย้ายกันทำงานและเจอหน้ากันเฉพาะช่วงเลิกงาน คณบดีฯ แนะว่า ภายใต้ความอึดอัด หากมองมุมใหม่ว่าเราจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น ด้วยความที่วัยทำงาน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ที่ผ่านมาเหมือนแยกกันอยู่ เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าจะจูนได้ตรงกันได้ทุกเรื่อง แต่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วงทำงานก็หามุมทำงาน มาเจอกันช่วงหนึ่ง และแยกไปทำกิจกรรมที่ตัวชอบ หากรู้ว่าประเด็นไหนที่จะทำให้ทะเลาะกัน ก็ขอให้หยุด และไปทำกิจกรรมอื่นที่ตนเองต้องการแทน
“พยายามอย่างหนึ่ง คือ ต้องใจเย็นในช่วงที่ทุกคนกำลังเครียด เพราะทุกคนก็ออกไปไหนไม่ได้กันหมด ควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มันน่าจะเป็นช่วงที่ดีว่า แต่เดิมแทบจะไม่มีเวลาให้กันเลย แต่ตอนนี้จะมีเวลาให้กันมากขึ้น และบางอย่างถ้าจะนำไปสู่ความขัดแย้งก็หยุดพูดตรงนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากอยู่ด้วยกันแล้วจำเจ ก็อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” คณบดีฯ กล่าว
- มองไปข้างหน้าเมื่อโควิดจบ
คณบดีฯ กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากคือ อยากให้ทุกคนกลับมามองตัวเอง มองความคิด หรือแผนชีวิตว่า ต่อไปจะเป็นอย่างไร เราต้องทบทวน วางแผน ปรับปรุงตัวเองใหม่ ตั้งสติ เพื่อให้เข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่น และก้าวต่อไปที่ต้องใช้ความสามัคคีในครอบครัว มันไม่ง่าย เพราะต่อไปต้องรีสตาร์ททุกอย่างใหม่ คนในครอบครัวอาจจะมีคนที่ตกงาน ก็ต้องเห็นใจกันและกัน ต้องร่วมกันคิดว่าจะฟื้นอย่างไร พลังของครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการเกื้อหนุนกันทางใจ ถ้าเราสร้างและมีพลังสามัคคีในครอบครัว ช่วยกันคิดหาทางออก ไม่ใช่ต่างคนต่างทะเลาะกัน ไม่รอดแน่ เพราะครอบครัวเป็นฐานสำคัญในการฟื้นฟูทั้งหมดในเรื่องของสังคมไทยข้างหน้าต่อไป
“สำคัญ คือ ช่วงสงกรานต์ปีนี้คงไม่เหมือนปีอื่นเพราะมีสถานการณ์โรคระบาด หากรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง อย่ากลับไปบ้าน ส่งใจไปได้ แต่กายขอให้ห่างในปีนี้ และคิดว่าพวกท่านคงเข้าใจ เราเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม ศัตรูของเราเป็นเชื้อโรคตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็น ดังนั้น เปลี่ยนว่าจากรดน้ำขอพร มาใช้วิธีโทรถึงกัน อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ทำเฉพาะวันสงกรานต์ หรือวันผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ก็ขอให้โทรคุยกับท่านทุกวันเพื่อติดตามว่าเป็นอย่างไร” คณบดี กล่าวทิ้งท้าย