โฆษก ศบค. ยืนยันวิธีตรวจหาเชื้อโควิด ได้ผลดีที่สุดแล้ว
โฆษก ศบค. ยืนยันสธ. เลือกวิธีตรวจหาเชื้อโควิด ได้ผลดีที่สุดแล้ว ไม่เคยปกปิด ไม่ซ่อนตัวเลขแน่นอน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันค่อนข้างน้อยในแต่ละวันนั้น อาจเกิดจากการทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อย เพราะเหตุใดจึงไม่นำชุดตรวจที่สามารถรู้ผลไว หรือ Rapid Test มาใช้ในการยืนยันผลตรวจ เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจได้มากขึ้นกว่าเดิม
โฆษกระบุว่า จำนวนการตรวจหาผู้ป่วยมากหรือน้อย ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูแล ควบคุม ป้องกันโรคแต่อย่างใด ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้วิธีการตรวจแบบ PCR โดยนำสารคัดหลั่งที่อยู่ในด้านหลังของคอผ่านโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อโดยตรง ซึ่งสามารถยืนยันการติดเชื้อได้เร็ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากทั่วโลก ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ถึงจะรู้ผลการตรวจ ส่วนการตรวจแบบ Rapid Test คือ การตรวจภูมิคุ้มกันด้วยวิธีการเจาะเลือดด้วยชุดทดสอบใช้เวลา 15 นาทีรู้ผล
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสแบบ PCR สามารถตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยเจอตั้งแต่มีการติดเชื้อวันที่ 3 เพราะเชื้อไวรัสมีการสะสมอยู่ที่คอ แต่ถ้าหากใช้วิธีการตรวจสอบด้วยเลือด หรือภูมิคุ้มกัน แบบ Rapid Test นั้น จะต้องใช้เวลา 10 วันหลังจากที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อและร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา วิธีนี้ถูกใช้ในหลายประเทศ รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย เช่น กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เดินทางกลับมาประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจากผลการตรวจด้วยวิธี Rapid Test พบว่าไม่ติดเชื้อ เพราะร่างกายยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกัน แต่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายแล้ว
ปัจจุบันนี้นวัตกรรมในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มีมากขึ้น เช่น การทำเป็นตู้โทรศัพท์แล้วให้คนที่ต้องการเข้ารับการตรวจเข้าไปยืน มีระบบถ่ายเทอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์สัมผัสตัวผู้ที่มาตรวจให้น้อยที่สุด และประหยัดการใช้ชุด PPE ด้วย
"ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อมาคัดกรอง ตรวจสอบโรค และได้เพิ่มห้องปฏิบัติการ ในกรุงเทพฯ จะสามารถตรวจได้ 10,000 เคสต่อวัน และต่างจังหวัด 10,000 เคสต่อวัน รวมถึงขยายการตรวจแบบ PUI เช่น กรณีผู้ที่มีอาการเป็นไข้ และสัมผัสใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำยาในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเหลือในการตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม วิธีการหว่านตรวจหาคนติดเชื้อนั้นอาจยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับการตรวจหาคนติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงเฉพาะ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดการปนเปื้อน ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ขอยืนยันว่าไม่มีการปกปิดตัวเลขอย่างแน่นอน และขอชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19"