ยื่นงบการเงิน หลังเลื่อนประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าเข้ามาปั่นป่วน บจ., บมจ. จากที่ต้องจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน เม.ย.63 นี้ ทำให้ต้องเลื่อนออกไป และกำหนดวันประชุมใหม่ แต่การยื่นงบการเงินที่จำเป็นต้องทำนั้น จะดำเนินไปอย่างไร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทจำกัด (บจ.) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายในกำหนด 4 เดือน นับแต่วันเริ่มต้นรอบปีบัญชี คือภายในเดือนเม.ย.2563 หลายราย ได้เลื่อนการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นออกไปจากกำหนดเดิมตามคำแนะนำของทางราชการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และจะกำหนดวันประชุมใหม่ เมื่อสถานการณ์การระบาดเบาบางลง
การเลื่อนการประชุมออกไปจากเดิม และกำหนดวันประชุมใหม่เมื่อพ้นเดือนเม.ย.2563 ถ้าเป็น บจ. ที่จัดทำงบดุลเสร็จตั้งแต่ปลายปี โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบแล้ว ก็เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่จัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบภายใน 4 เดือน จะมีปัญหาเป็นความผิดตามกฎหมายกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ถ้าเป็น บมจ. ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด จะเป็นความผิดไม่จัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นภายใน 4 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัทซึ่งส่วนมากใช้รอบปีปฏิทิน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ปัญหาข้างต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกประกาศ ลงวันที่ 4 มี.ค.2563 ให้ บจ., บมจ. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถจัดประชุมหรือจัดประชุมล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อได้ดำเนินการจัดประชุมแล้ว ให้มีหนังสือชี้แจงเหตุผลยื่นต่อนายทะเบียนเป็นรายกรณีไป
อย่างไรก็ตาม มีผู้สงสัยว่าประกาศดังกล่าวไม่มีการอ้างบทมาตราของกฎหมายใด และมีการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดให้อำนาจยกเว้นได้ คำตอบคือเป็นการออกประกาศทางบริหาร ในฐานะเป็นกรมที่มีหน้าที่และเป็นต้นสังกัดของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกำกับดูแลและปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงคือ การเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการ เพื่อไม่ให้มีการรวมตัวของผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อป้องกันการรับเชื้อหรือแพร่เชื้อ ขาดเจตนาที่จะจัดประชุมล่าช้า
- การยื่นงบการเงินหลังจากเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้น
1.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบัญชี พ.ศ.2543 กำหนดให้ บจ.และ บมจ.ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชี (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่หน่วยงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในจังหวัดต่างฯ) ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่งบการเงินนั้นได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้คำว่างบการเงินตามกฎหมายการบัญชีฉบับนี้ มีความหมายรวมถึงงบดุลของ บจ. และงบการเงินและบัญชีกำไรขาดทุนของ บมจ. ดังนั้นเมื่อเลื่อนการประชุมและจัดประชุมใหม่วันใด บจ. และ บมจ. ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ (BDB e-Filing) เท่านั้น
2.ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 69 บัญญัติให้บริษัทซึ่งหมายความรวมถึง บจ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ บมจ. ตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด ต้องยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการชำระภาษี พร้อมบัญชีงบดุลฯ ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบปีบัญชี
ตามมาตรา 69 ของประมวลรัษฎากร บจ.หรือ บมจ. มีเวลายื่นงบดุลต่อกรมสรรพากรช้าสุดได้ถึงวันที่ 29 พ.ค.2563 แต่กรมสรรพากรได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามเอกสารการแถลงข่าวของากรมสรรพากรที่ ปชส.22/2563 วันที่ 24 มี.ค.2563 ในส่วนของกลุ่มนิติบุคคล บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขยายเวลาการยื่น ภ.ง.ด.50 ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2561 ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทต้องยื่นงบดุลต่อกรรมสรรพากรตาม มาตรา 69 ได้รับการขยายไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2563
3.ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 มาตรา 56 ให้บริษัทจดทะเบียน จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานที่เกี่ยวกับฐานะทางการเงิน รายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว และงบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.44/2556 เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (ฉบับประมวล)
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดมาตรการผ่อนผันให้บริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตามที่มีการแถลงข่าวหรือเผยแพร่ข่าวคือ คือประสานกับสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อเสนอให้กำหนดแนวปฏิบัติทางการบัญชีรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนทางคณะกรรมการกำกับตลาดทุนก็มีมติให้ผ่อนผันระยะเวลาการจัดส่งงบการเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด โดย ก.ล.ต.ผ่อนผันการจัดส่งงบการเงินที่จะปิดงวดในเดือน พ.ค.2563 ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดส่ง ส่วนงบการเงินประจำปีไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นงวดประจำปี โดย ก.ล.ต.คงจะมีประกาศแจ้งรายละเอียดและเงื่อนไขต่อไป
สำหรับกรณีที่บริษัทเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นออกไป เป็นเหตุให้ไม่สามารถเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งผู้สอบบัญชีได้ทันการทำการสอบงบการเงินงวดไตรมาส 1 ปี 2563 ก็ให้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.สอบทานก่อนได้ แล้วไปเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้งต่อไป