โควิด-19 กับการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป
ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นเซ็กเตอร์แรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะการเคลื่อนตัวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องชะลอตัว หรือหยุดชะงักในบางประเทศ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า อนาคตภาคการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร?
โควิด-19 ระบาดคราวนี้มีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศที่มีภาคเศรษฐกิจหลักด้านการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่า ประเทศยอดนิยม 5 อันดับต้นๆ ของโลกด้านการท่องเที่ยวเจ็บหนักที่สุด เช่น สเปน อิตาลี สหรัฐ และที่จะตามมาคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ เพราะตอนนี้อัตราติดเชื้อใหม่และอัตราตายต่อวันยังสูงอยู่มาก
หากจะเทียบกันระหว่างประเทศที่อยู่ใน 5 อันดับของโลกด้านรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งรวมประเทศไทย (ลำดับ 4) ก็นับว่าไทยรับมือได้ไม่เลวทีเดียว เพราะระบบสาธารณสุขของเราเข้มแข็ง หรือโชคดีที่บุคลากรการแพทย์ไทยฉลาด มิฉะนั้นเราคงตายกันหมด ตอนนี้ก็ขออย่างเดียวว่าประชาชนไทยต้องร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤตินี้อย่างมีวินัยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วินัยเท่านั้นที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตินี้ได้โดยเจ็บน้อยที่สุด
ถึงกระนั้นภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวและการเดินทางของเราก็ได้รับความบอบช้ำมาก และเป็นภาคที่ได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุดภาคหนึ่ง คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือว่าการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 สงบลงจะเปลี่ยนไปอย่างไร และสถานการณ์นี้จะอยู่อีกนานเท่าใด
คำถามแรก การท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างไร แน่นอน นักท่องเที่ยวที่ผ่านประสบการณ์เฉียดความตายมาแล้วต้องมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม สิ่งที่ต้องคิดถึงก็คือ
1.การสร้างระบบติดต่อแบบไร้รอยต่อจะสำคัญมาก เช่นระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวแพลตฟอร์มในปัจจุบันไม่มีช่องทางติดต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติ ตั้งแต่การดูแลตนเองให้ปลอดภัย การติดต่อตำรวจ โรงพยาบาลต่างๆ การเข้าถึงสถานทูตและการรับข่าวสารราชการ (ซึ่งต้องเป็นภาษาสากล) ที่อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาระหว่างเกิดภาวะฉุกเฉิน
2.ระบบทำความสะอาดและทำลายเชื้อของสถานบริการท่องเที่ยวต้องดีขึ้น เช่น มีบริการอบฆ่าเชื้อห้องและสถานที่ให้บริการ และระบบทำลายเชื้อที่อาจติดมากับธนบัตร ภาชนะที่ลูกค้าใช้ ฯลฯ นอกจากนั้นในโรงแรมระบบติดต่อระหว่างแขกที่เข้าพักกับการรับบริการอาจต้องผ่านอินเทอร์เน็ต และในกรณีที่มีโรคระบาดต้องนำหุ่นยนต์มาใช้ในการบริการแขกที่เข้าพักมากขึ้น
3.ระบบสังคมไร้เงินสด ต้องเดินหน้าเต็มตัวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
4.ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันที่เป็น Share economy แบบ Airbnb หรือ Homestay อาจจะได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากความไม่ไว้วางใจในมาตรฐานซึ่งหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ หากคิดปรับปรุงก็จะต้องใช้เงินลงทุนสูงขึ้น และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอาจต้องมีมาตรฐานด้านการจัดการภัยพิบัติเพิ่มเติม
คำถามที่ 2 สถานการณ์จะยืดเยื้อนานเท่าใดไม่แน่ใจว่าจะมีใครตอบได้ เพราะสถานการณ์ในอนาคตนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับไทยประเทศเดียวเพราะเราเป็นประเทศที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ถึงจีนจะสามารถสยบโควิด-19 ได้แล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และจิตใจคนจีนเองก็คงยังไม่พร้อมที่จะออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศทันทีในปีนี้
ตลาดนักท่องเที่ยวจีนในไทยก็มีเพียง 1 ใน 4 ของทั้งหมด คนจีนคงจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนของตนเพราะรายได้ของคนจีนก็หายไป 2-3 เดือนเหมือนกัน ลูกค้าใหญ่ของเราเช่น เยอรมนี อังกฤษ และรัสเซีย ขณะนี้อัตราการติดเชื้อยังสูงมาก ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ยุโรปซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทยก็อาจจะต้องฉลองคริสต์มาสภายในทวีปของตนด้วยซ้ำ
ประธานาธิบดีสหรัฐที่เคยประกาศว่าปัญหาจะหมดไปก่อนอีสเตอร์ในเดือน เม.ย. แต่ตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนเป็นเดือน มิ.ย.แล้ว ส่วนประเทศอื่นๆ ก็คงไม่สามารถจัดการปัญหาได้ภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็ไม่น่าจะดีขึ้นเมื่อเราถึงไฮซีซั่นในเดือน ต.ค. ถ้าโชคดีภาคส่งออกของไทยจะเริ่มออกสตาร์ทนำไปก่อน ดังนั้นปลายปีนี้สถานการณ์ที่ดีที่สุดก็คือต้องพึ่งตัวเลขของการท่องเที่ยวจากในเอเชีย (ยกเว้นอินเดีย) และในประเทศของเราเอง แต่ก็คงไม่สามารถเติมเต็มห้องพักกว่า 1 แสนห้องของที่ภูเก็ต 2 แสนห้องที่ชลบุรี และ 6 หมื่นห้องที่เชียงใหม่ได้
World Economic Forum และบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประเมินว่าถ้าสหรัฐและสหภาพยุโรปไม่สามารถระงับการระบาดในรอบที่ 2 ของโควิด-19 ได้ กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็คือไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ส่วนไทยถึงแม้ว่าเราจะควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่อย่าลืมว่ายังมีระเบิดเวลาอีก 2 ลูกรอเราอยู่ในเมียนมาและลาว ซึ่งตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อยังต่ำมาก แต่ก็เริ่มเพิ่มขึ้นแล้วเนื่องจากแรงงานได้เดินทางกลับบ้านและคงเป็นการแพร่เชื้อที่ตรวจสอบและควบคุมยากเพราะระบบสาธารณสุขจำกัดมากใน 2 ประเทศนี้
เมื่อสถานการณ์ของเราดีขึ้นและเราเปิดรับการท่องเที่ยวกลับมาใหม่และรัฐบาลเปิดพรมแดนให้คนเหล่านี้เข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวก็จะทำให้เราเกิดปัญหาโควิด-19 รอบ 2 แต่หากเราปิดพรมแดนและห้ามต่างชาติเข้าประเทศซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับไทยที่จะรักษาชีวิตคนไทย ก็หมายความว่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่สายป่านยาวอาจจะต้องรอไปถึงเดือน ต.ค.2564 ส่วนผู้ที่สายป่านสั้นก็ต้องรีบมองหาอาชีพเสริมอื่นๆ ประทังชีพก่อน ส่วนไกด์ทั้งหลายก็ต้องเปิดหลักสูตรอบรมทางออนไลน์ สอนภาษาจีนหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ไปพลางๆ ก่อน
โอกาสอื่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือการปรับปรุงโรงแรมให้เป็นที่รองรับผู้ที่กักกันตัวเอง หรือผู้มีความเสี่ยงระหว่างสังเกตอาการ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีบางโรงแรมให้บริการแล้วและน่าจะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคต หรือที่ยังไม่มีใครลองคือรองรับบุคคลเปราะบางเช่นผู้สูงวัยที่อายุเกิน 70 และมีโรคไม่ติดต่อประจำตัวซึ่งครอบครัวอาจอยากแยกคนเหล่านี้ให้ปลอดภัยจากโรคระบาด หรือรองรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคมะเร็ง ซึ่งอยู่ในระยะฟักพื้นที่ต้องการพื้นที่ปลอดโควิด-19
ซึ่งในระยะยาวจะสามารถปรับไปเป็นสถานบริบาลคนชราหรือสถานบริการที่ประคับประคองชีวิตระยะสุดท้าย (Palliative care) ดีมานด์ของ 2 ประเภทนี้ก็คาดว่าจะอยู่ในหลักหมื่น (ถ้าเราควบคุมสถานการณ์ได้) ไม่ใช่หลักแสน จึงยังเป็นโอกาสที่จำกัดอยู่สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมของเราซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ถัดไปก็จะเป็นกิจกรรมที่ยากกว่าคือ ดูแลพวกผู้ติดเชื้ออาการอ่อนๆ ซึ่งก็มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการมากขึ้นการปรับปรุงสถานที่ก็ต้องลงทุนมากขึ้น การพัฒนาทักษะบุคลากรก็ต้องมากขึ้น ถ้าสามารถไปร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนก็จะสามารถลดภาระของโรงพยาบาลของรัฐได้อีกมาก
ในอนาคตถ้าไทยทำสำเร็จคราวนี้ก็จะมีชื่อเสียงด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลมากขึ้น โรงแรมเหล่านี้ก็จะมีอนาคตในฐานะที่จะเข้ามารองรับการเป็น “เมดิคัล ฮับ” ของไทย เป็นแสงเงินแสงทองเมื่อเมฆดำผ่านพ้นไป แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องคิดไปให้ไกลว่าสถานการณ์ปกติในอนาคต (Next normal) หรือ New normal ของท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร การท่องเที่ยวแบบ Mass จะต้องลดลง? รัฐบาลต้องคิดใหม่ไหมว่ากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้เงินเช่น ที่บางลาง จ.ภูเก็ต จะทำลายตนเองในที่สุด? ต้นทุนของการท่องเที่ยวได้รวมหลักประกันในด้านการประกันภัยและค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวแล้วหรือยัง? เวลาเกิดเรื่องจะได้ไม่ตระหนกตกใจจนรับไม่ทัน