'4 เทคนิค' อยู่บ้านเพื่อชาติ เบรกระบาดเชื้อไวรัส 'โควิด-19' อยู่หมัด!
จิตเวชโคราชแนะครัวเรือน 4 จังหวัดอีสานล่าง ใช้ "4 เทคนิค" อยู่บ้านเพื่อชาติ เบรกระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ "โควิด-19"
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ แนะครัวเรือนใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ใช้ 4 เทคนิคอยู่บ้านเพื่อชาติ ได้ผลทั้งหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นผลสำเร็จ และสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง โดยให้ทุกบ้านกำหนดกติกาเป็นหลักปฏิบัติของสมาชิกทุกคน อาทิการล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างกัน 2 เมตร ปรับวิธีการบอกรักห่วงใยกันด้วยคำพูดหรือข้อความแทนการโอบกอดจูบ มีวิธีคลายเครียด คลายเบื่อหน่ายอย่างสร้างสรรค์ และดูแลบ้านให้สะอาด ดูแลผู้สูงอายุอย่างปลอดภัย
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ( COVID-19) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านให้มากที่สุดตามนโยบายของอธิบดีกรมสุขภาพจิต เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อและความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ละอองเสมหะของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดต่อกันโดยการสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีเชื้อปนเปื้อนแล้วนำมือมาสัมผัสที่ใบหน้าหรือหยิบอาหารเข้าปาก ก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน
สำหรับวิธีการอยู่บ้าน ซึ่งจะให้ผลดีต่อประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ มีข้อแนะนำให้ทุกครอบครัวใช้เทคนิคปฏิบัติ 4 ประการตามแนวทางของกรมสุขภาพจิต ดังนี้
1. ทุกบ้านควรจัดทำกฎกติกาของบ้าน สำหรับใช้เป็นข้อตกลงร่วมเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การล้างมือฟอกสบู่เหลวหรือสบู่ก้อนบ่อยๆ ,ลดการออกนอกบ้าน ,อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร หากสมาชิกคนใดไม่ทำตามกฎของบ้าน จะต้องกล้าบอกความจริงแก่ครอบครัว โดยต้องไม่มีการกล่าวโทษหรือซ้ำเติมกัน ทั้งนี้ให้ครอบครัวเป็นสถานที่พักพิงที่อบอุ่นใจ
2. ปรับวิธีการสื่อสาร เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจแก่กันและกัน ในรูปแบบของการบอกหรือใช้ข้อความแทนการสัมผัสโอบกอดหรือจูบ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อ ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยกัน ขอให้ติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์หรือใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ วิดีโอคอลเป็นต้น จะทำให้สมาชิกเกิดกำลังใจและรู้สึกว่าอยู่ใกล้กัน
3. ใช้วิธีคลายเครียดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อลดความเบื่อหน่ายขณะอยู่บ้าน เช่นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ของสมองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีตามความถนัด ความสนใจ และความเหมาะสมของสถานที่ เช่น ทำอาหารใหม่ตำรับที่เคยไปรับประทานนอกบ้าน หรือตำรับที่เคยรับประทานในอดีต การทำขนม เย็บปักถักร้อย ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ผล หรือดูแลพืชสวนไร่นา ซึ่งจะได้ทั้งความสุขใจ และความเพลิดเพลิน
4. ดูแลจัดบ้านที่พักอาศัยให้สะอาดและปลอดภัย ซึ่งในช่วงที่มีโรคระบาดและเชื้อโรคติดต่อกันง่าย ให้จัดสถานที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อลดการใกล้ชิดกัน แยกของใช้เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว เสมือนกับว่ามีคนติดเชื้ออยู่ในบ้านแล้ว เช่นแยกผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ช้อนตักอาหาร และหากมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านด้วย โดยเฉพาะเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียง ขอให้ใช้ผู้ดูแลคนเดิมเนื่องจากมีประสบการณ์และได้รับการฝึกทักษะการดูแลมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกเคยชินได้รับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันคงเดิม
“หากทุกบ้าน ทุกครอบครัวลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมา นอกจากจะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้างและยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้โดยเร็วแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว ประการสำคัญยังเป็นการสร้างประสบการณ์ให้สมาชิกในครอบครัวได้เรียนรู้วิธีการปรับตัว สามารถอยู่อย่างปลอดภัยในช่วงที่มีวิกฤติการณ์เกิดโรคภัยระบาดด้วย” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว