'พลังงาน' เลื่อนแผนอี20 ดึง 'เอทานอล' เพื่อ 'การแพทย์'
แผนการปรับโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยของกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง
แผนการปรับโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยของกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ที่ว่าด้วยการกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมัน เลิกการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2563 เพื่อประกาศให้แก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน และให้ผู้ค้าน้ำมันมีเวลาปรับตัวในการยกเลิกการจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป
โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอลเป็น 7 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมี ปริมาณการใช้อยู่ที่ 4-5 ล้านลิตรต่อวันแต่แผนดังกล่าว ถูกสั่งเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายลง
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ ประเทศมีความจำเป็นต้องนำเอทานอลไปใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตเอทานอลสามารถดึงกำลังการผลิตเอทานอลส่วนเกินกว่า 1 ล้านลิตร ออกมาใช้ได้หมด เครื่องจักรที่เคยเดินเครื่องการผลิตอยู่ที่ 60-70% ก็ผลิตได้ถึง 80-90%
ส่วนตัวเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังก็ได้ประโยชน์เพราะความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ราคาก็ดีขึ้น แต่จะดีมากกว่านี้ หากนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์ อี 20 เพราะจะทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นถึงวันละ 2 ล้านลิตร ซึ่งก็จะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจขอเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่ม และเบื้องต้นก็ได้รับรายงานว่า มีโรงงานอยู่ระหว่างขอเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล อีกประมาณ 5 แสนลิตรต่อวัน
ปัจจุบัน โรงงานเอทานอลมีทั้งหมด 26 แห่ง กำลังผลิตรวม 6.275 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการผลิตจริงเพื่อใช้ในการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 4.763 ล้านลิตรต่อวัน และมีกำลังผลิตส่วนเกินอยู่ที่ 1.512 ล้านลิตรต่อวัน
ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มองว่า แผนส่งเสริมการใช้เอทานอล สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่รัฐตั้งไว้ เพราะไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการยกเลิกใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แล้ว จะทำให้ผู้ใช้รถหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ในทันที เนื่องจากผู้ใช้รถยังมีทางเลือกที่จะเติมแก๊สโซฮอล์ 95 ได้
“ประกาศออกไปแล้ว ก็เหมือนกับ บี100 ในอดีต ถ้าเอทานอลไม่พอก็ลดสัดส่วนผสมได้ อี20 ก็อาจจะเป็น อี15 ปรับสเปคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐจะพิจารณา”
ส่วนสถานการณ์ยอดขายเอทานอลปัจจุบัน ถือว่าเติบโตขึ้นประมาณ 10-15% ราคาเอทานอล อยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท ไม่มียอดขายเอทานอลในส่วนของอุตสาหกรรม เพราะภาครัฐไม่อนุญาต แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ของโควิด-19 จึงมีการผ่อนผันกฎหมาย ก็เชื่อว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้น
ขณะที่ยอดขายเอทานอล สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงประมาณ 10% ตามการเดินทางที่ลดลง ขณะที่ราคาเอทานอล ปีนี้ปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบน้อยลง จากผลกระทบภัยแล้ง ทำให้เอทานอลที่ผลิตจากอ้อย และมันสำปะหลัง เช่น โมลาส มีราคาสูงขึ้นประมาณ 40%
บุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์กล่าวว่า บริษัท อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมปรับปรุงสเปคน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 ให้ได้ตามมาตรฐานของกระทรวงพลังงาน และเตรียมแผนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์และความแตกต่างระหว่างการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี20 ซึ่งตามหลักการ พบว่าแก๊สโซฮอล์ อี 20 มีความคุ้มค่ากว่า เพราะมีออกเทนสูงกว่า